นกแอ่นตาล

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Cypsiurus balasiensis01.JPG

วงศ์ : Apodidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cypsiurus balasiensis (Gray) 1829.
ชื่อสามัญ : Asian palm swift
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Palm swift

นกแอ่นตาลมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cypsiurus balasiensis ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อเมืองหนึ่งในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบครั้งแรกแต่เดิมนกแอ่นตาลที่พบในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cypsiurus parvus (Lichtenstein) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับนกแอ่นตาลในแอฟริกา (African Palm Swift) แต่ King et al. (1975) ใช้ชื่อว่า Cypsiurus balasiensis โดยอ้างตาม Brooke (1970) ในหนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อเช่นเดียวกับ King et al. (1975), Howard and Moore (1980), Sibley and Monroe (1990), Lekagul and Round (1991) และ Inskipp et al. (1996) ทั่วโลกมีนกแอ่นตาล 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Cypsiurus balasiensis infumatus (Sclater) ชื่อชนิดย่อยมาจากคำภาษาละตินคือ infumat แปลว่าควัน ความหมายคือ “สีสันคล้ายสีควันหรือสีดำ” พบครั้งแรกที่เมือง Banjermassing หรือ Banjermasin ในเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (12-13 ซม.) ลำตัว ปีก และหางเรียว ลำตัวทั้งหมดสีน้ำตาลเข้ม บางครั้งมองเป็นเป็นสีออกดำ มันมีลักษณะแตกต่างจากพวกนกแอ่นกินรัง (swiftlet) ตรงที่มันมีหางเรียวกว่าและเว้าลึกกว่า (มากกว่าร้อยละ 30 ของความยาวหาง) ตะโพกและหลังสีเข้ม

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ทุ่งนา ป่าละเมาะ ป่าโปร่ง และบริเวณที่ใกล้กับบ้านเรือนตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกติพบอยู่เป็นฝูง ในเวลากลางวันมันใช้เวลาส่วนใหญ่บินและร่อน ทั้งในระดับสูงและระดับที่ค่อนข้างสูงจากพื้นดิน แต่ไม่ค่อยฉวัดเฉวียนอย่างนกแอ่นอื่น ส่วนในเวลากลางคือมันจะเกาะนอนหลับตามแหล่งอาศัย นกแอ่นตาลจะไม่เกาะสายไฟฟ้า ลายโทรเลข หรือกิ่งก้านของต้นไม้ ยกเว้นใบตาลหรือใบปาล์ม บางครั้งมันอาจเกาะตามเพดานหรือผนังสิ่งก่อสร้าง ขณะลงเกาะหรือบินออกหากินมักร้องเป็นเสียงแหลมและดังกังวาน นกแอ่นตาลบินใช้ปากโฉบจับกินแมลงขนาดเล็กกลางอากาศ เช่น มดที่บินได้ในอันดับมดและผึ้ง (Hymenoptera) มวนในอันดับมวน (Hemiptera) แมลงปีกแข็งในอันดับด้วงปีกแข็ง (Coleopera) เป็นต้น

การผสมพันธุ์
นกแอ่นตาลผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ทำรังรวมกันเป็นกลุ่มตามใบตาล ใบมะพร้าว และใบปาล์ม บางครั้งพบมันทำรังตามผนังและชายคาบ้านและตามสิ่งก่อสร้าง เป็นรูปตะกร้า ด้านข้างติดกับใบตาลหรือปาล์ม มันใช้วัสดุพวกดอกหญ้าซึ่งมีมากในช่วงผสมพันธุ์ และใช้สิ่งที่สกัดออกมาจากต่อมน้ำลายเชื่อมยึดให้ติดกันแน่นและแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักไข่และตัวมันได้ ทั้งสองเพศช่วยกันเลือกสถานที่ทำรังหาวัสดุ และสร้างรัง

ไข่
รังมีไข่ 2-3 ฟอง เป็นรูปรียาว สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 11.7x17.1 มม. ทั้งคู่ช่วยกันฟักไข่ ลูกนกแรกเกิดมีรูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโต ท้องป่อง ยังไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมลำตัว และขายังไม่แข็งแรงพอจะยืนได้ พ่อแม่ต้องคอยช่วยกันกกให้ความอบอุ่นโดยให้ลูกนกซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และต้องคอยช่วยกันหาอาหารมาป้อนตลอดเวลา ลูกนกแอ่นตาลเจริญเติบโตและพัฒนาขนปกคลุมลำตัวค่อนข้างเร็ว อายุเพียง 3-4 สัปดาห์มันจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวเต็มวัยและมีขนปกคลุมทั่วตัว หลังจากนั้นไม่นานมันจะหัดบินและทิ้งรัง

สถานภาพ
นกแอ่นตาลเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมากทั่วทุกภาค เป็นนกแอ่นที่พบมากและบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดานกแอ่นในวงศ์นี้

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกแอ่นตาล


Cypsiurus balasiensis02.JPG

แหล่งที่มาของภาพ
https://sites.google.com/site/iambvirds/_/rsrc/1348053416874/nk-xaen-tal-asian-palm-swift-cypsiurus-balasiensis/2.jpg?height=266&width=400
https://sites.google.com/site/iambvirds/_/rsrc/1348053469217/nk-xaen-tal-asian-palm-swift-cypsiurus-balasiensis/22.jpg