นกเค้าเหยี่ยว

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Ninox scutulata01.jpg

วงศ์ : Strigidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ninox scutulata (Raffles) 1822.
ชื่อสามัญ : Brown Hawk Owl
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

นกเค้าเหยี่ยวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ninox scutulata ชื่อชนิดเป็นคำภาษาละตินคือ scutulata แปลว่ารูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ความหมายคือ “นกที่มีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน” พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกเค้าเหยี่ยว 10 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Ninox scutulata florensis (Wallace) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือเกาะฟลอเรส ในหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย
  2. Ninox scutulata burmanica Hume ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือประเทศพม่า (ที่ตําบลสาละวิน เมืองตะนาวศรี)
  3. Ninox scutulata scutulata (Raffles) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิดพบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา

กระจายพันธุ์
ในเอเชียตะวันออก อินเดีย หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ จีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ เกาะไหหลํา ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะซุนดา เกาะสุลาเวซี และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (30 ซม.) มีรูปร่างคล้ายเหยี่ยว ลำตัวใหญ่ ปีกกว้างและมน ใบหน้าเล็ก ตาสีทองแกมเหลือง ระหว่างตาคาดแถบสีขาว หัวและลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านล่างสีเนื้อถึงขาว มีลายจุดใหญ่สีน้ำตาลแกมน้ำตาลเหลือง

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่ารุ่น บริเวณทุ่งโล่ง และบริเวณแหล่งกสิกรรม ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในป่าชายเลน มีกิจกรรมช่วงเช้าตรู่ เย็นค่ำ และกลางคืน พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่มันเกาะตามกิ่งไม้หรือพุ่มไม้ที่มีใบแน่นทึบ เวลามีสิ่งรบกวนมันจะบินหนีไปต้นอื่น มันบินได้ดี ปกติจะกระพือปีกสลับร่อน เวลาบินลงเกาะกิ่งไม้มีลักษณะท่าทางคล้ายเหยี่ยว นกเค้าเหยี่ยวกินแมลงขนาดใหญ่ เช่น ด้วงปีกแข็ง ตั๊กแตน เป็นต้น นอกจากนี้ยังกินกบ กิ้งก่า นกขนาดเล็ก หนู และค้างคาวขนาดเล็ก มันหาอาหารโดยใช้กรงเล็บโฉบจับเหยื่อกลางอากาศ แล้วนำกลับมากินบนต้นไม้หรือตอไม้ที่มักเกาะเป็นประจำทุกคืน หรือมันอาจใช้กรงเล็บโฉบจับเหยื่อบนพื้นดินและตามกิ่งก้านของต้นไม้ แล้วนำกลับไปกินที่ที่เกาะเดิม

การผสมพันธุ์
นกเค้าเหยี่ยวผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ทำรังในโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติ มักไม่มีวัสดุรองรัง นอกจากเศษอาหาร

ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง อาจมีได้ถึง 5 ฟอง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 29.5x35.1 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก แต่ส่วนมากตัวเมียจะทำหน้าที่นี้ ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 24 วัน ทั้งสองเพศช่วยกันเลี้ยงลูกอ่อน ลูกนกแรกเกิดยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แต่มีขนอุยปกคลุมลำตัวบางส่วน เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้ดี ประมาณ 5-6 สัปดาห์หลังออกจากไข่ก็จะทิ้งรัง

สถานภาพ
นกเค้าเหยี่ยวเป็นทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพมายังประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย florensis พบทางภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ชนิดย่อย burmanica พบทั่วประเทศตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงคอคอดกระ และชนิดย่อย scutulata พบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกเค้าเหยี่ยวทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกเค้าเหยี่ยว


Ninox scutulata02.jpg Ninox scutulata03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQd5vxmCA2hwo157IMGWjiv3Uum5FW8OSbHWHoAf58F10XldC0A&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ4qbNyFnQRXC5ymEEcRvIfAg4Xxs5XcscnAsFw3tm64h7rqYPVIw&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSouqpwIbM8oJCxPXDbZJPLtCbhNYKlg1Xahh0dRRODB3Qc-pU3UQ&s