นกจับแมลงสีน้ำตาล

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Muscicapa dauurica01.jpg

วงศ์ : Muscicapidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muscicapa dauurica (Pallas), 1811.
ชื่อสามัญ : Asian brown flycatcher
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Brown flycatcher

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Muscicapa dauurica ชื่อชนิดอาจเป็น daurica ซึ่งดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือ Daurica ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย และอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบไบคาล ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างมองโกเลียและแมนจูเรีย อย่างไรก็ตามตำราส่วนใหญ่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Muscicapa latirostris Raffles, 1822. ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ lati หรือ latus แปลว่ากว้าง และ rostr,=um หรือ rostris แปลว่าปาก ความหมายคือ “นกที่มีปากกว้าง” พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และถือว่า dauurica เป็นเพียงชนิดย่อยหนึ่งเท่านั้น การใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Muscicapa dauurica อาจเนื่องมาจากเป็นชื่อที่ตั้งมาก่อน ทั่วโลกมี 4 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Muscicapa dauurica dauurica Pallas ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Muscicapa dauurica cinereoalba Temminck and Schlegel ขื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ ciner,-ar,-e,-I หรือ cinereus แปลว่าสีเทา และ alb,-i,-id หรือ albus แปลว่าสีขาวความหมายคือ “นกที่มีสีเทาและขาว” พบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น
  3. Muscicapa dauurica siamensis (Gyldenstope) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือประเทศไทย ที่จังหวัดลำปาง

กระจายพันธุ์
ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เทือกเขาหิมาลัย อินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (13 ซม.) ตัวเต็มวัยลำตัวด้านบนสีเทาจนถึงน้ำตาลแกมเทา ปากสีดำ ขากรรไกรล่างเป็นลักษณะคล้ายแท่งเนื้อ ตอนโคนเป็นสีเหลือง วงรอบเบ้าตาสีขาว ปีกไม่มีลายพาดและลายขีดใด ๆ ลำตัวด้านล่างสีออกขาว อกและสีข้างสีเทาแกมน้ำตาล ตรงกลางอกมักมีสีออกขาว นิ้วสีออกดำ ในห้องปฏิบัติการลำตัวด้านล่างบางครั้งเป็นลายขีดเล็กละเอียด ปีกยาว 67-76 มม. ขนปลายปีกนับจากด้านในเส้นที่ 9 สั้นกว่าเส้นที่ 6 ตัวไม่เต็มวัยปีกมีลายพาดสีเนื้อ ในช่วงแรกลำตัวด้านบนมีลายจุดสีเนื้อเข้ม

อุปนิสัยและอาหาร
พวกที่เป็นนกอพยพพบในป่าโปร่ง ชายป่า ทุ่งโล่ง สวนผลไม้ และป่าชายเลนตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล พวกที่เป็นนกประจำถิ่นพบในป่าโปร่งและป่าดงดิบเขา ในความสูงระหว่าง 600-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่มักเกาะตามกิ่งล่างของต้นไม้หรือกิ่งแห้ง ตาคอยจ้องหาเหยื่อ ซึ่งไม้แก่ แมลง จากนั้นจะโฉบด้วยปากกลางอากาศ แล้วกลับมาเกาะที่เดิม ขณะเกาะตามปกติมักสั่นปีก ห้อยหางลง เป็นนกที่มีกิจกรรมมากในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำ

การผสมพันธุ์
ชนิดย่อย siamensis ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน รังเป็นรูปถ้วย โดยสร้างจากมอสและกิ่งไม้เล็กๆ รองพื้นรังด้วยรากฝอย ขนนก และวัสดุเยื่อใย รังอยู่ตามกิ่งไม้ ซึ่งอาจเป็นกิ่งแห้งหรือกิ่งที่อยู่ในที่โล่ง สูงจากพื้นดิน 2-6 เมตร

ไข่
รังมีไข่ 4 ฟอง ไข่สีเทาแกมเขียว มีลายขีดสีน้ำตาล ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 13.1x17.4 มม. ตัวเมียตัวเดียวที่ฟักไข่ โดยตัวผู้จะคอยหาอาหารมาป้อนขณะตัวเมียฟักไข่ ใช้เวลาฟักไข่ 11-12 วัน ทั้งสองเพศช่วยกันทำรังและเลี้ยงดูลูกอ่อนใช้เวลาเลี้ยงลูก 9-10 วัน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ชนิดย่อย cinereoalba เป็นนกอพยพ พบบ่อยและปริมาณมาก พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคกลาง ชนิดย่อย dauurica เป็นนกอพยพ พบบ่อยและปริมาณมาก พบทางภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ ชนิดย่อย siamensis เป็นนกประจำถิ่น พบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนักในบางท้องที่ พบเฉพาะทางภาคเหนือด้านตะวันตก

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกจับแมลงสีน้ำตาล


Muscicapa dauurica02.jpg Muscicapa dauurica03.jpg Muscicapa dauurica04.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a1/Muscicapa_dauurica_2_-_Khao_Yai.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8b/Asian_Brown_Flycatcher_(Muscicapa_dauurica).jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/be/Asian_Brown_Flycatcher_(Muscicapa_dauurica)_-_Flickr_-_Lip_Kee_(2).jpg
https://c1.staticflickr.com/3/2206/1859192122_4e4edfa706.jpg