นกเอี้ยงถ้ำ

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Myiophonus caeruleus01.jpg

วงศ์ : Muscicapidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myiophonus caeruleus (Scopoli) 1786.
ชื่อสามัญ : Blue Whistling Thrush
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myiophonus caeruleus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ caerule หรือ caeruleus แปลว่าสีน้ำเงินหรือน้ำเงินเข้ม ความหมายคือ “นกที่มีสีเป็นสีน้ำเงินหรือน้ำเงินเข้ม” พบครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ทั่วโลกมี 6 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 5 ชนิดย่อย คือ

  1. Myiophonus caeruleus caeruleus (Scopoli) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Myiophonus caeruleus temminckii Vigors ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกบริเวณเทือกเขาหิมาลัย
  3. Myiophonus caeruleus eugenei (Hume) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า
  4. Myiophonus caeruleus crassirostris (Robinson) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ crass หรือ crassus แปลว่าหนา และ rostr, =um หรือ rostris แปลว่าปาก ความหมายคือ “นกที่มีปากหนาหรือใหญ่” พบครั้งแรกที่จังหวัดตรัง
  5. Myiophonus caeruleus dicrorhynchus Salvadori ชื่อชนิดย่อยนี้น่าเขียนเป็น dichorhynchus ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ dich, -o หรือ dikhrous แปลว่าสองสี (รากศัพท์ภาษาละตินคือ dier, -o แปลว่าแฉก) และ rhynch, -o, =us หรือ rhunkhos แปลว่าปาก ความหมายคือ “นกที่มีปากเป็นสองสี” พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์
ในตุรกี อินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะชวา และเกาะสุมาตรา

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (33 ซม.) โดยทั่วไปเป็นสีน้ำเงินแกมม่วงเข้มมีลายขีดเล็ก ๆ สีจางทั่วตัว บางชนิดย่อยมีลายจุดเล็ก ๆ สีขาวแกมน้ำเงินบริเวณปลายของขนคลุมขนปีกแถวกลาง ปากสีเหลืองถึงดำขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดย่อย ตัวไม่เต็มวัยสีจะทีมกว่าไม่มีลายเลื่อม

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนถึง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ มักเกาะและกระโดดไปมาบนก้อนหินตามหน้าผาหรือบริเวณลำธารในป่า นอกจากนี้ยังยืนบนถนน พื้นป่า หลังคาสิ่งก่อสร้างในป่า และหรือเกาะกิ่งไม้ บางครั้งระหว่างเกาะจะแพนขนหางและกระดกขึ้นลงช้า ๆ อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ไส้เดือน หอย ปู ตัวหนอน และแมลงในน้ำ บางครั้งกินลูกนกหรือสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังกินพืชผักและผลไม้บางชนิดด้วย

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม อาจวางไข่ 2 ครั้งในแต่ละปี โดยวางไข่หลังจากที่ทิ้งรังเดิมไปแล้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ รังเป็นรูปถ้วย ประกอบด้วยราก ฝอย และมอส บางรังมีโคลนเป็นตัวเชื่อม รังอยู่ตามซอกหินริมลำธาร ริมตลิ่ง โพรงถ้ำ แต่อาจทำรังตามง่ามไม้ด้วย

ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง ไข่เป็นรูปหยดน้ำ สีฟ้า มีลายสีน้ำตาลเข้มทั่วฟอง ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 19.0x27.8 มม. หนัก 6.85 กรัม ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย caeruleus เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือด้านตะวันตก (จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย) ชนิดย่อย temmincki เป็นนกอพยพพบเฉพาะทางภาคเหนือด้านตะวันตก (จังหวัดเชียงใหม่) ชนิดย่อย eugenei เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก และอาจมีบางส่วนเป็นนกอพยพ พบบนเกาะนอกฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย crassirostris เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระจนถึงจังหวัดสตูล และชนิดย่อย dicrorhynchus เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคใต้ตอนใต้สุด (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกเอี้ยงถ้ำ


Myiophonus caeruleus02.jpg Myiophonus caeruleus03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2018_04_15_10_06_27.jpg
https://live.staticflickr.com/4535/37877009454_4efd11dbc7_b.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRBoJq8fadj_qxdwyV4BjPR9tqk3YVYYwDk8CWo6LsNp8Hl0PG6&s