นกจอกป่าหัวโต

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Calorhamphus fliginosus01.jpg

วงศ์ : Megalaimidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calorhamphus fliginosus (Temminck) 1830.
ชื่อสามัญ : Brown Barbet
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

นกจอกป่าหัวโตมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calorhamphus fliginosus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ fulig, -in หรือ fuliginis หรือ fuligo แปลว่าสี เขม่า และ -os, =um, =us แปลว่าเต็มไปด้วย ความหมายคือ “นกที่มีสีออกเป็นสีเขม่า” พบครั้งแรกทางตอนใต้ของเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกจอกป่าหัวโต 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อน คือ Calorhamphus fuliginosus hayii (Gray) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย Deignan (1963) ใช้ชื่อชนิดย่อยที่พบในประเทศไทยว่า Calorhamphus fulginosus detersus Deignan ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ในภาษาละตินคือ de แปลว่าจาก ลง หรือ ออก และ ters แปลว่าสะอาดหรือหมดจด ความหมายคือ “นกที่ไม่มีลวดลาย” พบครั้งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตามในบรรดาชนิดย่อยที่พบทั่วโลกทั้ง 3 ชนิดย่อย Howard and Moore (1980) ไม่ได้ระบุชื่อ Calorhamphus fuliginosus detersus ไว้จึงอาจเป็นไปได้ว่าทั้งสองชื่อเป็นชื่อพ้องซึ่งกันและกัน

กระจายพันธุ์
ในพม่า ไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (17-18 ซม.) ปากค่อนข้างใหญ่สีดำหรือน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม อาจมีลายแต้มสีเหลือง คอหอยและคอด้านล่างสีส้ม ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเทา ขาและนิ้วสีแดงสดหรือสีส้มเห็นได้ชัดเจน

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้นและป่ารุ่น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 3-4 ตัว ปกติมันมักเกาะตามใบไม้ กิ่งไม้ และลำต้นของต้นไม้สูง โดยสามารถเกาะได้ทุกแนว แต่บางครั้งมันก็ลงมาเกาะในระดับต่ำ หรือลงมายืนตามพื้นป่า นกจอกป่าหัวโตร้องเสียงแหลมและสูง แต่ไม่ดังนัก อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ แต่บางครั้งก็กินแมลงและตัวหนอน

การผสมพันธุ์
นกจอกป่าหัวโตมีชีววิทยาการ สืบพันธุ์ไม่แตกต่างไปจากนกโพระดกซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน มันขุดเจาะโพรงทำรังบนต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ยืนต้นตายและค่อนข้างผุ ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกแรกเกิดไม่ลืมตาและไม่มี ขนปกคลุมร่างกาย พ่อแม่ต้องช่วยกันป้อนอาหารจนกระทั่งลูกนกแข็งแรง บินได้ดี และหาอาหารเองได้ จากนั้นลูกนกก็จะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ
นกจอกป่าหัวโตเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง พบเฉพาะทางทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกจอกป่าหัวโตเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกจอกป่าหัวโต


Calorhamphus fliginosus02.jpg Calorhamphus fliginosus03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/user_data/album_data/201802/13/54348/images/487576.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSunetETw-z2X9KfhmvzJ9OuFLQ1V4Gpp0Y-8aQnfNG73rzLQ66&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTQNYZw6h91P5AwAXNWVT7UQSBP_uJkPyZr3J_1mPN6h4-Q5KrM&s