นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Chloropsis cochinchinensis01.jpg

วงศ์ : Chloropseidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloropsis cochinchinensis (Gmelin) 1788.
ชื่อสามัญ : Blue-winged Leafbird
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกเขียวลออ

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chloropsis cochinchinensis ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือ Cochin China ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ทั่วโลกมี 10 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 5 ชนิดย่อย คือ

  1. Chloropsis cochinchinensis cochinchinensis (Gmelin) ที่มาของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Chloropsis cochinchinensis chlorocephala (Walden) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ chlor, -o หรือ khloros แปลว่าสีเขียว และ cephal, =a, -o หรือ kephalos แปลว่าหัว ความหมายคือ “บริเวณหัวเป็นสีเขียว” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า
  3. Chloropsis cochinchinensis kinneari Hall and Deignan ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกทางตอนเหนือประเทศลาว
  4. Chloropsis cochinchinensis serithai Deignan ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อของกลุ่มบุคคลเพื่อเป็นเกียรติแก่ขบวนการเสรีไทย พบครั้งแรกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  5. Chloropsis cochinchinensis moluccensis J.E. Gray ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือเกาะโมลุกกะ ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ หรือทางด้านตะวันออกของเกาะสุลาเวซีหรือเกาะซีลีบีส ของประเทศอินโดนีเซีย แต่ที่จริงแล้วพบครั้งแรกที่ Malacca ในประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (19 ซม.) มีลักษณะคล้ายกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่น ๆ แต่บริเวณขนปีกและขอบของขนหางมีสีฟ้า ตัวผู้บริเวณคอหอย และใบหน้าเป็นสีดำมีแถบสีม่วงน้ำเงินบริเวณใกล้มุมปาก บริเวณหัวมีสีเหลืองหรือออกเหลืองรวมถึงโดยรอบ คอหอย ลำตัวด้านบนสีเขียว ลำตัวด้านล่างสีเขียว แกมเหลือง ตัวเมียไม่มีสีดำบริเวณใบหน้าและคอหอย ลักษณะอื่นคล้ายกับตัวผู้

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา และป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาศัยและหากินบนต้นไม้ โดยเฉพาะตามยอดไม้ อาจพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ อาหารได้แก่ ผลไม้ น้ำหวานดอกไม้ แมลง และแมงมุม พฤติกรรมการกินอาหารไม่แตกต่างจากนกเขียวก้านตองชนิดอื่น ๆ

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน รังเป็นรูปถ้วย ประกอบด้วยกิ่งไม้ รากไม้เล็ก ๆ ต้นหญ้า ใบหญ้า ใบไม้ เชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุมทางด้านนอก รังอยู่ตามปลายกิ่งไม้ หรือแขวนในลักษณะคล้ายเปล ญวนระหว่างกิ่งไม้ ปกติรังอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 6-9 เมตร แต่บางรังซึ่งทำตามพุ่มไม้หรือกล้าไม้ ก็จะอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1-2 เมตรจากพื้นดิน

ไข่
รังมีไข่ 2-3 ฟอง ไข่สีครีมหรือสีขาวแกมชมพู มีลายดอกดวง และลายเส้นสีดำ สีม่วง และสีน้ำตาลแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 15.1x21.1มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 13-14 วัน ใช้เวลาเลี้ยงลูก 14-15 วัน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย chlorocephala พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้เหนือคอคอดกระ ชนิดย่อย kinneari พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนชนิดย่อย cochinchinensis พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย Serithai พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระจนถึงจังหวัดตรัง และชนิดย่อย moluccensis พบทางภาคใต้ตอนใต้สุด (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า


Chloropsis cochinchinensis02.jpg Chloropsis cochinchinensis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/50/Blue-winged_Leafbird_-_Thailand_H8O5844_%2816432256783%29.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRUnHS9yEyCgtj3vXFJPh9jlV6Kp4FQupJqYqx7XAjLYWmb0L7Y&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTl7W0PL3kKtBIc0IYYiZUao6MR5PcyH49wXM3GnS7DlfxWLyQY&s