นกหัวขวานด่างแคระ

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Dendrocopos canicapillus01.jpg

วงศ์ : Picidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrocopos canicapillus (Blyth) 1836.
ชื่อสามัญ : Grey-capped Woodpecker
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Grey-headed Pygmy Woodpecker, Pygmy Pied Woodpecker, Grey-crowned Pygmy Woodpecker

นกหัวขวานด่างแคระมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrocopos canicapillus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ can หรือ canus แปลว่าสีเทา และ capill, -a หรือ capillus แปลว่ากระหม่อม ความหมายคือ “นกที่มีกระหม่อมสีเทา” พบครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศพม่า ทั่วโลกมีนกหัวขวานด่างแคระ 15 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 4 ชนิดย่อย คือ

  1. Dendrocopos canicapillus canicapillus (Blyth) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Dendrocopos canicapillus delacouri (Meyer de Schauensee) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี
  3. Dendrocopos canicapillus pumilus (Hargitt) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ pumil, -io, -o แปลว่าแคระ ความหมายคือ “นกที่มีขนาดเล็กมาก” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า
  4. Dendrocopos canicapillus auritus (Eyton) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ aur, -i, -icul, =is, -it แปลว่าหู และ -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายคือ “ขนบริเวณหูมีสีเด่น” พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์
ตั้งแต่ปากีสถาน จีน เกาะไหหลำ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (15 ซม.) ตัวผู้บริเวณหน้าผากและกระหม่อมสีเทา หัวด้านข้างจากตาลงไปจรดคอเป็นแถบสีขาว เหนือแถบนี้มีเส้นเล็ก ๆ สีแดง หลังและตะโพกสีดำมีลายแถบสีขาว ปีกสีดำมีลายขีดประสีขาว คางและคอหอยสีขาวมีลายขีดสีเทา ลำตัวด้านล่างส่วนอื่นสีน้ำตาลจางจนเกือบเป็นสีขาว มีลายขีดสีดำ ขนคลุมโคนขนหางด้านบนและขนหางคู่กลางสองคู่เป็นสีดำ ขนหางคู่อื่นสีดำมีจุดประสีขาว ตัวเมียต่างจากตัวผู้ตรงที่หัวด้านข้างไม่มีเส้นสีแดง บริเวณเหนือแถบสีขาว

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่ารุ่น และ ป่าละเมาะ ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่เป็นคู่ และอาจพบอยู่รวมกับนกที่กินแมลง โดยเฉพาะนกไต่ไม้ นกติต นกจับแมลง และนกกระจ้อย นกหัวขวานด่างแคระมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับนกไต่ไม้มาก บางครั้งจึงทำให้ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกนกไต่ไม้ มันมักเกาะตามลำต้นของไม้พุ่มซึ่งไม่สูงจากพื้นดินมากนัก นอกจากนี้ยังเกาะตามกิ่งไม้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมทั้งยอดไม้ ใน ช่วงเช้ามักจะเห็นมันเกาะฝั่งแดดตามยอดไม้ในลักษณะของนกจับคอน นกหัวขวานด่างแคระหาอาหารด้วยการกระโดด เกาะวนไปรอบลำต้นหรือกิ่งไม้พร้อมกับใช้ปากจิกแคะเปลือกไม้ให้หลุด และใช้ลิ้นที่ยาวและเหนียวชอนไชไปตามโพรงหรือรู หรือใต้เปลือกไม้แล้วตวัดอาหารเข้าปาก อาหาร ได้แก่ มด ปลวก ผึ้ง ตัวหนอนและตัวอ่อนของแมลง นอกจากนี้มันยังกินผลไม้เปลือกอ่อน เช่น ไทร และน้ำหวานดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า งิ้ว และทองกวาว

การผสมพันธุ์
นกหัวขวานด่างแคระผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งสองเพศช่วยกันเจาะโพรงทำรังบนลำต้นหรือกิ่งไม้ ทั้งต้นตายที่ค่อนข้างผุหรือต้นไม้เนื้ออ่อนหรือแข็งปานกลางที่ยังมีชีวิตอยู่ รังอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 5-10 เมตร ปากโพรงกว้างประมาณ 3-4 ซม. ลึกเข้าไปตามแนวนอน 10-20 ซม. แล้วหักลงตามแนวลำต้นหรือกิ่งไม้ 20-40 ซม. ส่วนในสุดเป็นโพรงกว้างเพื่อวางไข่ สำหรับโพรงตามกิ่งไม้ ปากโพรงมักอยู่ทางใต้กิ่ง

'ไข่
รังมีไข่ 4-5 ฟอง ไข่สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 14.4x18.6 มม. ทั้งคู่ช่วยกันฟักไข่ อาจเข้าฟักพร้อมกันหรือผลัดกัน ใช้เวลาฟักไข่ 12-13 วัน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่จะช่วยกันกกและป้อนอาหารจนลูกนกแข็งแรงและบินได้ดี ประมาณ 1 เดือน หลังออกจากไข่ ลูกนกก็จะทิ้งรังไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ
นกหัวขวานด่างแคระเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย cani capillus พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ชนิดย่อย delacouri พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย pumilus พบทางภาคตะวันตกและภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีจนถึงจังหวัดสตูล ชนิดย่อย auritus พบทางภาคใต้ตอนใต้สุด บริเวณจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกด่างแคระทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกหัวขวานด่างแคระ


Dendrocopos canicapillus02.jpg Dendrocopos canicapillus03.jpg Dendrocopos canicapillus04.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201208/03/51290/images/459269.jpg
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201208/03/51290/images/459265.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSkJCMSHCXDmev0kHIqLXuViEksLnpjJuCryZNSKb2i7ggIdgin&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRiI86pmfyAc0bu9ooUY5CRj5RVjoHvkx2FIHI_9JFsTDOn-7Dk&s