นกกระจิบหญ้าสีข้างแดง

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Prinia rufescens1.jpg

วงศ์ : Cisticolidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prinia rufescens Blyth, 1847.
ชื่อสามัญ : Rufescent Prinia
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Rufous Wren Warbler, Lesser Brown Prinia

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prinia rufescens ชื่อชนิดมาจากคำในภาษาละตินคือ rufescens แปลว่าสีออกแดง (รากศัพท์ภาษาละตินคือ ruf, -esc, -i หรือ rufer แปลว่าสีแดง และ -esc, -en, -ens เป็นคำลงท้าย แปล ว่าค่อนข้างจะ) ความหมายคือ “นกที่มีสีค่อนข้างเป็นสีแดง” พบครั้งแรกที่ Arracan (Arakan) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศพม่า ทั่วโลกมี 5 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 4 ชนิดย่อย คือ

  1. Prinia rufescens beavani Walden ชื่อชนิดย่อยมาจากชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่เมืองตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า
  2. Prinia rufescens objurgans Deignan ไม่ทราบที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อย พบครั้งแรกที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
  3. Prinia rufescens peninsularis Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาอังกฤษคือ peninsula แปลว่าคาบสมุทรหรือแหลม ความหมายคือ “นกที่พบบริเวณคาบสมุทร” พบครั้งแรกที่จังหวัดตรัง
  4. Prinia rufescens extrema Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาอังกฤษคือ extreme แปลว่าปลายสุด ความหมายคือ “นกที่พบบริเวณปลายสุดของพื้นที่” พบครั้งแรกที่จังหวัดนราธิวาส

กระจายพันธุ์
ตั้งแต่เนปาลจนถึงจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (12 ซม.) ปลายหางสีเทาแกมสีแดงจาง ช่วงฤดูผสมพันธุ์หัวสีเทา แกมน้ำตาล คิ้วยาวสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมแดง ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมสีครีม สีข้างและขนคลุมโคน ขนหางด้านล่างสีน้ำตาลแดงถึงสีเนื้อ ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์หัวและลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลแกมแดงมากกว่า ตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเต็มวัยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ แต่ลำตัวด้านล่างมักมีลายแต้มสีเหลือง

อุปนิสัยและอาหาร
พบตามไม้พื้นล่างของป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่ารุ่น และทุ่งหญ้า ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่พบในระดับต่ำจนกระทั่งความสูงปานกลาง อุปนิสัยไม่แตกต่างจากนกกระจิบหญ้าอกเทา

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน รังเป็นรุปกระโจม โดยโน้มใบหญ้า 2-3 ใบมาหุ้มกัน มีทางเข้าออกขนาดใหญ่อยู่ทางด้านข้างค่อนไปทางด้านบน รังมักอยู่สูงจากพื้นดิน ไม่เกิน 50 ซม. ชีววิทยาการสืบพันธุ์ด้านอื่นไม่แตกต่างจากนกกระจิบหญ้า

ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง ไข่สีฟ้าอ่อนถึง สีขาว มีลายขีดสีแดงจนถึงสีน้ำตาลแดง บางฟองไม่มีลาย ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 11.8x16.1 มม.

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย beavani พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และแถบลุ่มแม่น้ำโขง ชนิดย่อย objurgans พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย peninsularis พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระจนถึงจังหวัดตรัง และชนิดย่อย extrema พบทางภาคใต้ตอนใต้สุด

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกระจิบหญ้าสีข้างแดง


Prinia rufescens2.jpg Prinia rufescens3.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2014_01_01_17_26_47.jpg
https://www.hbw.com/sites/default/files/styles/ibc_1k/public/ibc/p/rufescent_prinia_bocos.jpg?itok=t2kuhT1X
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2013_03_01_20_53_06.jpg