นกเขียวคราม

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Irena puella1.jpg

วงศ์ : Irenidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Irena puella (Latham) 1790.
ชื่อสามัญ : Asian Fairy Bluebird
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Blue-backed Fairy Bluebird

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Irena puella ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ puell, =a แปลว่าผู้หญิง อาจมีความหมายว่า “นกที่มีลักษณะสวยงามหรือนกที่มีนิสัยสงบเงียบ” พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมี 6 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Irena puela puela (Latham) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Irena puella sikkimensis Whostler and Kinnear ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือ Sikkim ในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
  3. Irena puela malayensis Moore ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่คือประเทศมาเลเซีย พบครั้งแรกที่ Malacca

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และเกาะปาลาวัน

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (25 ซม.) ตาสีแดง ตัวผู้มีลำตัว ปีกและหางเป็นสีดำ ลำตัวด้านบนและขนคลุมหางด้านล่างสีน้ำเงินสดใส ตัวเมียสีน้ำเงินคล้ำเกือบตลอดทั้งตัว ขนปลายปีกและขนหาง เป็นสีดำเช่นเดียวกับตัวผู้

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั้งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ปกติอาศัยและหากินตามยอดไม้สูง แต่บางครั้งอาจลงมายังไม้พุ่มเตี้ย มักเคลื่อนที่จากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งไม้หนึ่งด้วยการกระโดดหรืออาจบินจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นไม้หนึ่ง ระหว่างการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่มักส่งเสียงร้องไปด้วย อาหาร ได้แก่ ผลไม้เนื้ออ่อน เช่น ไทร หว้า ผลของไม้เถา บางชนิด โดยการใช้ปากเด็ดผลออกจากขั้ว แล้วกลืนทั้งผล นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานดอกไม้ โดยเฉพาะทองหลางป่า งิ้วป่า กาฝาก และยังหากินหนอนและแมลงตามกิ่งไม้และยอดไม้ ไม่ค่อยพบลงมายังพื้นดิน

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนตลอดถึงฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ทำรังตามกิ่งไม้ที่ค่อนข้างทึบ รังเป็นรูปถ้วยแบนกว้าง อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 3.0-4.0 เมตรหรือสูงกว่า รังโดยเฉลี่ยมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 14.46 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 8.57 ซม. และลึก 2.56 ซม. (ไกรรัตน์, 2,539) ประกอบด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ ใบไม้ เถาวัลย์ มอส ไลเคน สานเข้าด้วยกันและเชื่อมด้วยใยแมงมุม ตัวเมียตัวเดียวที่สร้างรัง ตัวผู้คอยอยู่ใกล้ ๆ พร้อมกับการส่งเสียงร้อง ซึ่งอาจเป็นการประกาศอาณาเขตไม่ให้นกคู่อื่นหรือตัวอื่นเข้ามาใกล้หรือแย่งสถานที่สร้างรัง

ไข่
รังมีไข่ 2 ฟอง หายากที่มี 3 ฟอง ไข่เป็นรูปรี สีขาวอมน้ำตาล มีรอยแต้มสีน้ำตาลเข้มหรือสีม่วง โดยจะมีมากบริเวณไข่ด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 20.5x28.2 มม. ตัวเมียตัวเดียวที่ฟักไข่ โดยใช้เวลา 16-17 วัน ทั้งสองเพศช่วยกันเลี้ยงดูลูกอ่อน โดยใช้เวลา 15-16 วัน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย sikkimensis พบทางภาคเหนือ ชนิดย่อย puella พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะะวันตก และภาคใต้ตอนบน และชนิดย่อย malayensis พบทางภาคใต้

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกเขียวคราม


Irena puella02.jpg Irena puella03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR62Htc_ZSpVIso8Zd3oqrF0BHIA5r6QQxE-y6w87H8Bf4y7Hqw5A&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSMzgX2ELnzR6ww-LcopLq9OiAMJvbmPwcnosu2wWjur_a8aqlnrg&s
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/db/Asian_fairy_bluebird%40_aralam_wls.jpg