นกกาฝากก้นเหลือง

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Dicaeum chrysorrheum01.jpg

วงศ์ : Dicaeidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum chrysorrheum Temminck and Laugier 1829.
ชื่อสามัญ : Yellow-vented Flowerpecker
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicaeum chrysorrheum ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ chrys, -o, =us หรือ khrusos แปลว่าสีทอง และ rheum, =a, -i, -o หรือ orrhos แปลว่าตะโพกหรือก้น ความหมายคือ “นกที่มีกันสีทอง” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมี 2 ชนิดย่อย คือ Dicaeum chrysorrheum chrysorrheum Temminck ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด และ Dicaeum chrysorrheum chrysochlore Blyth ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ ภาษากรีกคือ chrys, -o, =us หรือ khrusos แปลว่าสีทอง และ chlor, -o หรือ khloros แปลว่าสีเขียว ความหมายคือ “นกที่มีสีเขียวและสีทอง” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า

กระจายพันธุ์
ในอินเดียตอนเหนือ จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (10 ซม.) ตัวเต็มวัยลำตัวด้านล่างสีขาวแกมสีครีมมีลายขีดสีดำกระจายทั่วไป ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีส้มหรือเหลือง ตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเต็มวัย แต่ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีเหลืองจาง ลำตัวด้านล่างส่วนที่เหลือสีเทามีลายขีดสีน้ำตาลแกมเทา

อุปนิสัยและอาหาร
พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ชายป่า และป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่โดดเดียว หรือเป็นคู่ อาจพบอยู่รวมกับนกกาฝาก และนกชนิดอื่น เป็นนกที่ค่อนข้างขยันขันแข็ง มักบินไปตามต้นไม้หรือกระโดดไปตามกิ่งไม้เกือบตลอด เวลากินเกสรและน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหาร โดยเกาะบริเวณกิ่งที่มีดอกหรือเกาะบนกลีบดอก แล้วใช้ปากจิกกินเกสรหรือดูดกินน้ำหวาน นอกจากนี้ยังกินแมลง ตัวหนอน แมงมุม และผลไม้บางชนิดด้วยการใช้ปากจิกกินเฉพาะเนื้อในผลขณะติดกับขั้วโดยไม่ทำให้ผลหลุดจากขั้ว

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม รังเป็นรูปไข่แขวนอยู่ตามกิ่งไม้ในระดับสูงจากพื้นดินไม่เกิน 6 เมตร

ไข่
รังพบไข่ 2 ฟอง ไข่สีขาว ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 11.0x15.3 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ยังไม่ทราบระยะเวลาฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและประมาณปานกลาง ชนิดย่อย chrysochlore พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย chrysorrheum ภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกาฝากก้นเหลือง


Dicaeum chrysorrheum02.jpg Dicaeum chrysorrheum03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTdqDGXrvZFWmdFAGy64YNydLBstr46EmosUngNzHnqYr5vZWRV&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRp3u1cm0xnBLkppNpAIUw1oEaES40rITypsuXD3V1uLDGnDGwmYQ&s
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2013_05_13_22_22_43.jpg