นกแซงแซวหางปลา

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Dicrurus macrocercus01.jpg

วงศ์ : Dicrurinae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus macrocercus (Vieillot) 1817.
ชื่อสามัญ : Black drongo
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicrurus macrocercus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ macr,-o หรือ makros แปลว่าใหญ่หรือยาว และ cerc,-o,=us แปลว่าหาง ความหมายคือ “นกที่มีหางขนาดใหญ่หรือมีหางยาว” พบครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศอินเดียทั่วโลกมี 7 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Dicrurus macrocercus albirictus (Hodgson) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษละตินคือ alb,-I,-id หรือ albus แปลว่าสีขาว และ rict หรือ rictus แปลว่ามุมปาก ความหมายคือ “บริเวณมุมปากเป็นสีขาว” พบครั้งแรกที่ประเทศเนปาล
  2. Dicrurus macrocercus cathoecus Swinhoe ยังไม่ทราบที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยอาจมาจากคำว่า Catholic ซึ่งแปลว่าผู้นับถือศาสนาคริสต์ พบครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศจีน
  3. Dicrurus macrocercus thai Kloss ซึ่งชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่คือประเทศไทย พบครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กระจายพันธุ์
ในอิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน และเกาะชวา

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (28 ซม.) หางยาว 125-184 มม. ตัวเต็มวัยสีเป็นสีดำแต่อาจไม่เป็นมันเท่ากับนกแซงแซวอื่น ๆ หางเว้าลึก ปลายขนหางคู่นอกสุดโค้งขั้นเล็กน้อย ตัวไม่เต็มวัยมักมีลายเกล็ดสีขาวบริเวณขนปีกด้านล่าง อกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามทุ่งโล่ง ทุ่งนาและบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำ ปกติในระดับพื้นราบ แต่อาจพบได้ในความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่หรือเป็นฝูง มักเกาะตามกิ่งไม้แห้ง หลัก ตอไม้ สายไฟฟ้า เสารั้ว และบางครั้งลงมายืนบนพื้นดิน อาหาร ได้แก่ แมลง มีพฤติกรรมการหาอาหารหลายแบบ เช่น เกาะตามสิ่งต่าง ๆ ตาคอยจ้องหาเหยื่อรอบตัว เมื่อพบจะบินโฉบจับด้วยปาก แล้วกลับมาเกาะที่เดิมเพื่อกลืนกินอาหาร แล้วจ้องหาเหยื่อต่อไปอีก หรืออาจบินลงมาบนพื้นดินแล้วใช้ปากจิกมดปลวก หรือแมลงตามโพรงดิน หรืออาจเกาะหรือกระโดดบนหลังวัวควาย หรือเกาะกับสิ่งต่าง ๆ ใกล้ ๆ บริเวณที่วัวควายเดินผ่าน เพื่อจับแมลงที่กระโดดหนีเมื่อวัวควายเหยียบย่ำพื้นหญ้า หรือบินฉวัดเฉวียนกลางอากาศไล่โฉบจับแมลงเหนือบริเวณที่กำลังเกิดไฟไหม้ เป็นนกที่ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมการป้องกันอาณาเขตอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะบริเวณรัง มันจะบินโฉบเข้าโจมตีนกและสัตว์อื่นที่เข้าไปใกล้รังของมัน ทั้งนกขนาดใหญ่ เช่น อีกา เหยี่ยว หรือแม้แต่สุนัขก็จะถูกนกทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันโจมตีเพื่อป้องกันไข่และลูกอ่อน

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม รังเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ประกอบด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และเยื่อใยต่าง ๆ เชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม ทำรังตามต้นไม้ โดยวางรังตามง่ามซึ่งอาจจะอยู่เกือบปลายสุดของกิ่ง บางครั้งในต้นไม้ต้นเดียวกันอาจมีรังของนกชนิดอื่นอยู่ด้วย เช่น นกขมิ้น นกเขา นกปรอด เป็นต้น ซึ่งนกเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมัน และมันก็ไม่ก้าวร้าวกับนกเหล่านี้

ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง ไข่แต่ละฟองอาจแตกต่างกัน ส่วนใหญ่มีสีขาวหรือสีครีมแกมชมพู มีลายจุด ลายดอกดวงสีดำ และน้ำตาลแกมแดง ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 19.8x27.1 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรังฟักไข่ และเลี้ยงลูก 7-10 วัน บ่อยครั้งที่นกคัดคู รวมทั้งนกดุเหว่า จะใช้รังของนกแซงแซวหางปลาเป็นที่วางไข่ และปล่อยให้นกเจ้าขางรังฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อนให้

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น นกอพยพผ่านและนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย albirictus เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือ ชนิดย่อย cathoecus เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ พบทั่วไปยกเว้นภาคใต้ ชนิดย่อย thai เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันตก ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ตอนบน

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกแซงแซวหางปลา


Dicrurus macrocercus02.jpg Dicrurus macrocercus03.jpg Dicrurus macrocercus04.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/user_data/album_data/201203/01/49896/images/448980.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2013_04_20_21_14_19.jpg
https://live.staticflickr.com/275/31972988241_f407081438_b.jpg
http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-208065-1.jpg