นกขุนแผนอกสีส้ม

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Harpactes oreskios01.jpg

วงศ์ : Trogonidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Harpactes oreskios (Temminck) 1823.
ชื่อสามัญ : Orange-breasted Trogon
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

นกขุนแผนอกสีส้มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Harpactes oreskios หรือ Harpactes orieskios ชื่อชนิดเป็นคำในภาษากรีกคือ oreskios (ore, -o แปลว่าภูเขา และ kio, -no แปลว่าเสาหรือหลัก) แปลว่าผสมพันธุ์บนภูเขา ความหมายคือ “นกที่อาศัยอยู่หรือผสมพันธุ์ในที่สูงหรือบนภูเขา” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกขุนแผนอกสีส้ม 5 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ Harpactes oreskios stellae Deignan ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ stell, =a, -i, -o แปลว่าดวงดาว ความหมายคือ “มีลายคล้ายดวงดาวหรือเป็นนกที่พบในที่สูง” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ Harpactes oreskios uniformis (Robinson) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ uni แปลว่าหนึ่ง และ form, =a แปลว่ารูปร่าง ความหมายคือ “นกที่มีรูปร่างลักษณะไม่เหมือนกับชนิดย่อยอื่นหรือมีรูปร่างเป็นแบบฉบับของตัวเอง” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่จังหวัดตรัง

กระจายพันธุ์
ในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดจีน และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (28-30 ซม.) ตัวผู้บริเวณหัวและอกตอนบนสีเขียวแกมเหลือง อกตอนล่างและท้องสีเหลืองแกมส้ม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทา ปีกสีดำมีลายขีดสีขาวกระจาย ตัวเมียบริเวณหัวและลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทา คอหอย และอกสีเทาแกมเขียว ท้องสีเหลือง ปีกสีดำมีลายขีด สีน้ำตาลกระจาย

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยว ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะพบเป็นคู่ ส่วนใหญ่มีกิจกรรมและหากินในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำ ส่วนในเวลากลางวันช่วงที่อากาศร้อนมันมักเกาะนิ่งตามพุ่มไม้หรือกิ่งไม้ในระดับต่ำ ขณะเกาะลำตัวตั้งเกือบตรง หางชี้ลงพื้นดิน อาหารได้แก่ ตัวหนอนและแมลง เช่น ตั๊กแตน จักจั่น ด้วงปีกแข็ง มด มวน เป็นต้น บางครั้งมันก็กินสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กและผลไม้ด้วย นกขุนแผนอกสีส้มมีพฤติกรรมการจับแมลงคล้ายคลึงกับนกขุนแผนอื่น คือมันมักบินโฉบจับแมลงในอากาศใกล้กับที่เกาะ เมื่อจับได้แล้วมันมักบินไปเกาะที่อื่น ไม่ค่อยเกาะที่เดิมนัก บางครั้งมันก็บินลงจับเหยื่อที่อยู่ตามพื้นดิน

การผสมพันธุ์
นกขุนแผนอกสีส้มผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มันทํารังตามโพรงบนต้นไม้ โพรงอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2-3 เมตร หรือสูงกว่า อาจเป็นโพรงที่เกิดตามธรรมชาติหรือที่สัตว์อื่นทำไว้

ไข่
รังมีไข่ 1-2 ฟอง ไข่สีเหลืองแกม สีงาช้าง มีขนาดเฉลี่ย 21.0x29.0 มม. ทั้งสองเพศจะช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 15-16 วัน ลูกนกแรกเกิดไม่มีขนปก คลุมร่างกายและยังไม่ลืมตา พ่อแม่จะเลี้ยงดูจนกระทั้งลูกนกแข็งแรงและบินได้ดี ประมาณ 1 เดือนหลัง ออกจากไข่ลูกนกจะทิ้งรังไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ
นกขุนแผนอกสีส้มเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย stellae พบทั่วไป ยกเว้นภาคกลางและภาคใต้ ส่วนชนิดย่อย uniformis พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกขุนแผนอกส้มทั้งสองชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกขุนแผนอกสีส้ม


Harpactes oreskios02.jpg Harpactes oreskios03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ2pA4y-1JpRLLod8iEfsSfcz2Q-1m0GxPC3T3KCy4BgEjCEKhRuA&s
https://i.ytimg.com/vi/IWuXjcky80s/maxresdefault.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRH0JklYHwwPXA8ijJsv5mszzWoD0UE6fIjPwh4zNJaRbTf3YG7&s