นกกินปลีแก้มสีทับทิม

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Anthreptes singalensis01.jpg

วงศ์ : Nectariniidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthreptes singalensis (Gmelin) 1788.
ชื่อสามัญ : Ruby - cheeked
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Anthreptes singalensis assamensis, Anthreptes singalensis koratensis, Anthreptes singalensis internota Deignan, Anthreptes singalensis interposita

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anthreptes singalens ชื่อชนิดมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือประเทศศรีลังกา (ชาวพื้นเมืองของศรีลังกาในภาษาอังกฤษเรียกว่า Singhalese) ทั่วโลกมี 11 ชนิดย่อย ประเทศไทย พบ 4 ชนิดย่อย คือ

  1. Anthreptes singalensis assamensi (Boden Kloss) ชื่อชนิดย่อยมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
  2. Anthreptes singalensis koratensi (Boden Kloss) ชื่อชนิดย่อยมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมา
  3. Anthreptes singalensis internota Deig nan ชื่อชนิดย่อยอาจมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ inter แปลว่าระหว่าง และรากศัพท์ภาษากรีก not, - แปลว่าทิศใต้หรือภาคใต้ ความหมายคือ “นกที่พบระหว่างรอยต่อของภาค” พบครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคใต้
  4. Anthreptes singalensis interposita (Robinson and Boden Kloss) ชื่อชนิดย่อยอาจมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ inter แปลว่าระหว่าง และ posit แปลว่าสถานที่ ความหมายคือ “นกที่พบระหว่าง 2 พื้นที่” พบครั้งแรกบริเวณพื้นที่ระหว่างจังหวัดพังงาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี

กระจายพันธุ์
กระจายพันธุ์ตั้งแต่เนปาลจนถึงจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (11 ซม.) ตัวผู้คอหอยและอกตอนบนสีน้ำตาลแดงหรือสีส้ม ขนบริเวณหูสีแดงแกมสีทองแดง ขนคลุมขนปีก ตะโพก และขนคลุมโคนขนหางด้านบนเป็นสีเขียวเป็นมัน ตัวเมียลำตัวด้านบนสีเขียวแกมเหลืองถึงสีเขียว คอหอย สีน้ำตาลแดงแกมสีเนื้อ ลำตัวด้านล่างสีเหลือง ตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเมีย แต่บริเวณคอหอยมีสีน้ำตาลแดงน้อยกว่า

อุปนิสัยและอาหาร
พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าพรุ และป่ารุ่น บางครั้งพบในสวนผลไม้ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,250 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอาจพบได้ในป่าชายเลน พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ บางครั้งในแหล่งอาหารเดียวกันอาจพบหลายตัวหรือหลายคู่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ไม่ได้แสดงพฤติกรรมการอยู่เป็นฝูง บ่อยครั้งพบหากินและมีกิจกรรมร่วมกับพวกนกติตและนกแว่นตาขาว อาหาร ได้แก่ น้ำหวานดอกไม้ หาอาหารโดยบินไปเกาะกลีบหรือโคนดอกไม้แล้วสอดปากเข้าไปดูดน้ำหวานหรือจิกเกสรดอกไม้กิน นอกจากนี้ยังกินแมลงด้วย โดยเฉพาะแมลงที่บินมาตอมดอกไม้ซึ่งมันกำลังกินน้ำหวานอยู่

การผสมพันธุ์
ในช่วงฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม รังเป็นรูปกระเปาะหางยาวแขวนอยู่ตามกิ่งของไม้พุ่มที่ค่อนข้างทึบหรือภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ รังอยู่สูงจากพื้นดินไม่มากนัก รังประกอบด้วยใบไม้ ใบหญ้า และต้นหญ้า เชื่อมกันด้วยใยแมงมุม อาจรองพื้นรังด้วยดอกหญ้าหรือวัสดุที่อ่อนนุ่ม

ไข่
รังมีไข่ 2 ฟอง ไข่สีครีม มีลายจุดและลายเมฆสีม่วงถึงเทา ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 10.3x13.4 มม. ตัวเมียหาวัสดุและสร้างรังเองทั้งหมด ขณะที่ตัวผู้จะคอยป้องกันอาณาเขตและวัสดุที่กำลังสร้างรัง ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ยังไม่ทราบระยะเวลาฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย assamensis พบทางภาคเหนือ ชนิดย่อย koratensis พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย internota พบทางภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ตอนบน และชนิดย่อย interposita พบทางภาคใต้

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกินปลีแก้มสีทับทิม


Anthreptes singalensis02.jpg Anthreptes singalensis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/album_data/948/38948/album/40072/images/375489.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2015_04_29_05_49_42.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQWYF3Serp2vZBEtoo_GK-QGg4UZj-R28YFvaVPFQ7O_wCXOYBmHA&s