นกจาบคาหัวสีส้ม

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Merops leschenaulti01.jpg

วงศ์ : Meropidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Merops leschenaulti Vieillot, 1817.
ชื่อสามัญ : Chestnut-headed Bee-eater
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Bay-headed Bee-eater

นกจาบคาหัวสีส้มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Merops leschenaulti ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อของ Jean Baptiste Louis Claude Théodore Leschenault de la Tour (1773-1826) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส พบครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา นกจาบคาหัวสีส้มมีชื่อพ้องว่า Merops erythrocephalus ชื่อพ้องมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ erythr, -o หรือ eruthros แปลว่าสีแดง และ cephal, =a, -o หรือ -kephalos แปลว่าหัว ความหมายคือ “หัวสีแดง” ทั่วโลกมีนกจาบคาหัวสีส้ม 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Merops leschenaulti leschenaulti Vieillot ชื่อชนิดย่อยมีที่มาเช่นเดียวกับชื่อชนิด

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีน ด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน เกาะชวา และเกาะสุมาตรา

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (22-23 ซม.) ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน ตัวเต็มวัยปากสีดำ แถบคาดตาสีดำ บริเวณหัวคอด้านบน และช่วงไหล่เป็นสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านบนสีเขียว ตะโพกสีฟ้าเห็นได้ชัดเจนขณะบิน ลำตัวด้านล่างสีเขียวจางกว่าลำตัวด้านบนเล็กน้อย คอหอยและแก้มสีเหลือง มีแถบเล็กสีน้ำตาลแดงเข้มคั่นคอหอยกับอก หางยาวปานกลาง ขนหางคู่กลางไม่งอกยาวเลยปลายหาง ตัวไม่เต็มวัยมีสีไม่สดใสเท่ากับตัวเต็มวัย

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยและหากินตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่น และทุ่งโล่ง ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีกิจกรรมและหากินในเวลากลางวัน มักพบเกาะอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงตามกิ่งไม้แห้ง ขณะเกาะลำตัวตั้งเกือบตรง นกจาบคาหัวสีส้มบินได้ดีและเร็วมาก บางครั้งก็ร่อนโดยกางปีกและหางออก แต่ไม่ร่อนเป็นระยะเวลานาน นกจาบคาหัวสีส้มกินแมลง โดยเฉพาะแมลงที่กำลังบิน เช่น ผึ้ง แมลงวัน แมลงเม่าหรือปลวก เป็นต้น มันหาอาหารโดยเกาะตามกิ่งไม้แห้ง คอยจ้องหาเหยื่อ เมื่อพบเหยื่อจะบินโฉบจับกลางอากาศด้วยปากแล้ว คาบเหยื่อที่จับได้มาเกาะที่เดิม ใช้กรงเล็บช่วยจับและใช้ปากเด็ดปีกของเหยื่อทิ้ง จากนั้นมันจึงกลืนเหยื่อทั้งตัว หากยังไม่อิ่ม มันจะคอยจ้องหาเหยื่อต่อไปนาน ๆ จึงจะเปลี่ยนที่เกาะใหม่

การผสมพันธุ์
นกจาบคาหัวสีส้มผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ทำรังโดยทั้งสองเพศช่วยกันใช้ปาก และเล็บขุดดินให้เป็นโพรงตามหน้าผา ฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง เชิงเขา หรือเนินดิน ปากโพรงกว้างประมาณ 4-6 ซม. โพรงลึก 1-2 เมตร ก้นโพรงกว้างกว่าปากโพรง 2-3 เท่าหรือมากกว่า ภายในโพรงไม่มีวัสดุรอง บางครั้งพบมันทำรังเป็นกลุ่ม

ไข่
รังมีไข่ 5-6 ฟอง ไข่มีรูปร่างเกือบกลม สีขาวไม่มีลายหรือจุด มีขนาดเฉลี่ย 19.0x21.7 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้เวลาฟักไข่ 12-14 วัน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมลำตัว และยังไม่แข็งแรงพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน ในช่วงแรกพ่อแม่จะนำอาหารไปป้อนในโพรง แต่เมื่อลูกนกเริ่มแข็งแรงแล้ว พ่อแม่จะป้อนอาหารลูกนกที่ปากโพรง ลูกนกเจริญเติบโตและพัฒนาขนปกคลุมลำตัวค่อนข้างเร็ว ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังออกจากไข่ พวกมันจะมีขนปกคลุมเต็มลำตัว หลังจากนี้ไม่นานพวกมันจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพังและทิ้งรังในที่สุด ส่วนพ่อแม่จะยังคงใช้รังต่อไปอีกระยะหนึ่งเหมือนนกจาบคาอื่น

สถานภาพ
นกจาบคาหัวสีส้มเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกจาบคาหัวสีส้มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกจาบคาหัวสีส้ม


Merops leschenaulti02.jpg Merops leschenaulti03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://dktnfe.com/web59/wp-content/uploads/2014/09/clipboard01_copy20.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSRvgTBPXXUiKFu1oDVUUCL-H0omszTz8gokI5L_QOQCwNmuJs6aQ&s
https://ak5.picdn.net/shutterstock/videos/3473105/thumb/1.jpg