นกเขนน้อยปีกแถบขาว

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Hemipus picatus01.jpg

วงศ์ : Tephrodornithidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hemipus picatus (Sykes) 1832.
ชื่อสามัญ : Bar-winged Flycatcher-shrike
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hemipus picatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ pic, =a แปลว่านกกาน้อย และ -tus เป็นคำลงท้าย ความหมาย “นกที่มีสีขาวและสีดำคล้ายกับนกกาน้อย” พบครั้งแรกที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมี 4 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Hemipus picatus picatus (Sykes) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Hemipus picatus capitalis (McClelland) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ capit, -i, -o หรือ caput แปลว่าหัว และ -alis เป็น คำลงท้าย แปลว่าเกี่ยวกับ ความหมายคือ “ลักษณะเด่นอยู่ที่หัว” พบครั้งแรกที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
  3. Hemipus picatus intermedius Salvadori ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ inter แปลว่าระหว่าง และ medi, -a, -o แปลว่ากลาง ความหมายคือ “นกที่มีขนาดกลางหรือมีลักษณะระหว่างนก 2 ชนิดย่อย” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะสุมาตรา และเกาะชวา

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (15 ซม.) ตัวผู้สีเป็นสีดำและขาวแกมเทา ตะโพกสีขาว ปลายหางและปีกมีลายแถบสีขาว หลังสีน้ำตาลหรือดำ ตัวเมียลักษณะคล้ายตัวผู้แต่บริเวณที่เป็นสีดำเป็นสีน้ำตาล ตัวไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่ลำตัวด้านบนมีลายเกล็ดสีเหลือง อกมีลายแต้มสีน้ำตาล

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าไผ่ และป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ และอาจพบรวมอยู่กับนกกินแมลงขนาดเล็กหลายชนิด อาหารได้แก่ แมลง โดยการจิกกินตามกิ่งไม้ ใบไม้ และยอดไม้ อาจโฉบจับแมลงกลางอากาศบ้าง แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะนัก

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม รังเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ ประกอบด้วยรากไม้ กิ่งไม้เล็ก ๆ มอส ใย แมงมุม และรองพื้นด้วยหญ้าแห้ง โดยวางรังบนปลา กิ่งหรือเกือบปลายกิ่งไม้ที่ขนานกับพื้นดิน รังอยู่สูง จากพื้นดินประมาณ 3-21 เมตร

ไข่
รังมีไข่ 2-3 ฟอง ไข่สีขาวแกมสีเทาอ่อน มีลายสีดำและเทาทั่วฟอง ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 12.5x15.0 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ซึ่งเมื่อออกจากไข่มาใหม่ ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ยังไม่ทราบรายละเอียดอื่น

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย capitalis พบทางภาคเหนือ ชนิดย่อย picatus พบทั่วทุกภาคยกเว้นพื้นที่ที่พบอีก 2 ชนิดย่อย ชนิดย่อย intermedius พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย
กฎหมายยังไม่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกเขนน้อยปีกแถบขาว


Hemipus picatus02.jpg Hemipus picatus03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSHtmC3EfBdD8FrflNVPmDC09XnVsSG3R2cOYft7DWVupNaL-8e&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRoxphJvt_IyKJcvmi_OE3hRRfTP8AEFcjeonO-TRlfW7mnc1B4Sg&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQoOJlJZBWsUhlsRvj-jSMCLoxZVjtuLpHLoKFgXqh5hrnlBwHV&s