นกกาฝากท้องสีส้ม

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Dicaeum trigonostigma01.jpg

วงศ์ : Dicaeidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum trigonostigma (Scopoil) 1786.
ชื่อสามัญ : Orange-bellied flowerpecker
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicaeum trigonostigma ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ trigon, -o หรือ trigonos แปลว่าสามเหลี่ยม และ stigma, =a, -at, -ato, -o หรือ stigma แปลว่าลาย ความหมายคือ “นกที่มีลายเป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณหลังและตะโพก” พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ทั่วโลกมี 16 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ Dicaeum trigonostigma trigonostigma (Scopoil) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชนิด และ Dicaeum trigonostigma rubropygium Stuart Baker ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์คือ rubr, -I หรือ ruber เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่าสีแดง และ pyg, =a, -o หรือ puge เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่าตะโพก ความหมายคือ “ตะโพกสีแดง” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า

กระจายพันธุ์
ในอินเดียตะวันออก พม่า ไทย มาเลเซีย หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (9 ซม.) ตัวผู้หลัง อกตอนล่าง และท้องเป็นสีส้ม ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีส้มแกมเหลือง คอหอยสีเทาอ่อน ลำตัวด้านบนส่วนที่เหลือสีน้ำเงินแกมเทา ตัวเมียแตกต่างจากตัวเมียของนกสีชมพูสวนและนกกาฝากอกสีเลือดหมูโดยปากยาวและเรียวกว่า ตะโพกมีแถบสีเขียวอ่อนถึงสีเหลือง บางครั้งมีแต้มสีส้ม ลำตัวด้านล่างสีเทาจาง กลางอกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่างเป็นสีเหลือง ตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเมีย แต่คอหอย อก และสีข้างเป็นสีเขียวอ่อนแกมเทา

อุปนิสัยและอาหาร
พบตามชายป่า ป่ารุ่น สวนป่า สวนผลไม้ และแหล่งกสิกรรม ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล บางพื้นที่พบในระดับความสูง 1,500 เมตร มักพบอยู่เป็นคู่ อาศัยและหากินตามกิ่งไม้และยอดไม้ ทั้งพุ่มไม้และไม้ยืนต้นขนาดกลาง อาหาร ได้แก่ น้ำหวานดอกไม้ เกสรดอกไม้ ผลไม้ แมลง ตัวหนอน และแมงมุม โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่แตกต่างจากนกกาฝากอื่น ๆ โดยเฉพาะนกกาฝากก้นเหลือง

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ทำรังเป็นรูปทรงกลมหรือรี มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านข้างค่อนไปทางด้านบน รังแขวนหรือห้อยลงจากกิ่งไม้ สูงจากพื้นดิน 2.5-12 เมตร

ไข่
รังมีไข่ 2-3 ฟอง ขนาดของไข่ 11.2x15.5 มม. ยังไม่ทราบชีววิทยาการสืบพันธุ์ด้านอื่น

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย rubropygium พบทางภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงจังหวัดกระบี่ และชนิดย่อย trigonostigma พบทางภาคใต้ส่วนที่เหลือ

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกาฝากท้องสีส้ม


Dicaeum trigonostigma02.jpg Dicaeum trigonostigma03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/21/Dicaeum_trigonostigma_2.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcQ55evZVgItHNj-mIxxs_m4MEyTsk3wEo-pXjFP72xDE9npaDJd
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0e/Dicaeum_trigonostigma.jpg