ผลต่างระหว่างรุ่นของ "นกหกเล็กปากแดง"
(สร้างหน้าด้วย "right '''วงศ์''' : Psittacidae<br> '''ชื่อวิทยาศาสตร์''' : ''Loriculus ve...") |
ล (ล็อก "นกหกเล็กปากแดง" ([แก้ไข=อนุญาตเฉพาะผู้ดูแลระบบ] (ไม่มีกำหนด) [เปลี่ยนชื่อ=อนุญาตเฉพาะผ...) |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นปรับปรุงเมื่อ 18:19, 1 กุมภาพันธ์ 2563
วงศ์ : Psittacidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Loriculus vernalis (Sparrman) 1787.
ชื่อสามัญ : Vernal Hanging Parrot
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Indian Lorikeet, Indian Hanging Lorikeet
นกหกเล็กปากแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Loriculus vernalis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ vern, -a แปลว่าฤดูใบไม้ผลิหรือสดใส และ -alis หรือ -ale เป็นคำลงท้าย แปลว่าเป็นของ ความหมายคือ “นกที่มีสีเขียว (สีใบไม้ในฤดูใบไม้ผลิ)” พบครั้งแรกที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมีนกหกเล็กปากแดง 2 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย คือ Loriculus vernalis vernalis (Sparrman) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด และ Loriculus vernalis phileticus Deignan ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ phil, -a, -i, -o เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่าชอบ และ -ticus เป็นคำลงท้ายในภาษาละติน แปลว่าเป็นของหรือแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คือป่า ความหมายคือ “นกที่พบตามป่า” พบครั้งแรกที่จังหวัดตรัง
กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย หมู่เกาะอันดามัน และเกาะชวา
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (12-14 ซม.) หางเล็กและสั้น ตัวผู้ปากสีแดง ลำตัวสีเขียว ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีแดง คอหอยมีแต้มสีน้ำเงิน ขนปีกบินด้านล่างสีน้ำเงินแกมฟ้า ขนคลุมขนปีกด้านล่างส่วนอื่นสีเขียว ขาและนิ้วสีเหลือง ตัวเมียปากสีซีดกว่าตัวผู้และคอหอยไม่มีแต้มสีน้ำเงิน ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายกับตัวเมีย แต่ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีเขียว มีลายสีแดง
อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าทั่วไป ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่เป็นคู่ เป็นครอบครัว หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ แต่บริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์บางครั้งพบเป็นฝูงใหญ่กว่า 50 ตัว เนื่องจากนกหกเล็กปากแดงมีขนาดเล็กมากและสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงสังเกตเห็นตัวได้ยาก นอกจากมันจะบิน นกหกเล็กปากแดงสามารถเกาะยอดไม้และกิ่งไม้ได้ทุกแนว ทั้งเกาะแบบนกจับคอนและห้อยหัวลง เวลาเกาะมันใช้ทั้งกรงเล็บและปาก ในเวลากลางคืนมันนอนหลับโดยเกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงแบบเดียวกับค้างคาว นกหกเล็กปากแดงบินได้ดีและเร็ว ขณะบินมักร้องเป็นเสียง “ชิชิ-ชิ” ซ้ำ ๆ กันทุก 2 วินาที นกหกเล็กปากแดงกินผลไม้เปลือกอ่อน เช่น ลูกไทร แต่ที่พบบ่อยมากคือกินน้ำหวานและกลีบดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า ดอกกาฝาก และดอกยูคาลิปตัส นอกจากนี้บางครั้งมันกินเมล็ดพืชและเมล็ดของไม้ต้น เช่น ขุยไผ่ เมล็ดสัก ธัญพืช เป็นต้น
การผสมพันธุ์
นกหกเล็กปากแดงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ทำรังในโพรงต้นไม้ตามกิ่งหรือลำต้น ซึ่งอาจเป็นโพรงทั้งด้านล่างและด้านข้างของกิ่งไม้ โพรงมักเกิดตามธรรมชาติ มันจะตกแต่งโพรงให้เหมาะกับตัวมัน และมักไม่มีวัสดุรองรัง ปกติรังอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2-10 เมตร
ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาวเป็นมัน ไม่มีลวดลาย มีขนาดเฉลี่ย 15.8x19.1 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน แต่ส่วนใหญ่ตัวเมียจะทำหน้าที่ดังกล่าว ใช้เวลาฟักไข่ 13-14 วัน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมลำตัว และยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและสำรอกอาหารออกมาป้อน ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ลูกนกจะแข็งแรงและบินได้ดี แล้วพวกมันจะทิ้งรังไปรวมฝูงกับนกครอบครัวอื่น
สถานภาพ
นกหกเล็กปากแดงเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย vernalis พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกใต้สุดที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนชนิดย่อย phileticus พบทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระจนถึงจังหวัดตรัง
กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRmws4NNjZjqrIGh_Q2ee-qx-PPBShOhORR8peNT-c-XCYA5f8Oow&s
https://download.ams.birds.cornell.edu/api/v1/asset/133940621/1800
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSef1nJbj70h2re_AVN44thitINj5xLTGI-L-1fHGSGhkhC4U9JGQ&s