นกพญาปากกว้างลายเหลือง
วงศ์ : Eurylaindae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurylaimus javanicus Horsfield, 1821.
ชื่อสามัญ : Dusky Broadbill
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eurylaimus javanicus ชื่อชนิดดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมี 5 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย (Deignan, 1963) คือ Eurylaimus javanicus friedmanni Deignan ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกที่จังหวัดสระบุรี และ Eurylaimus javanicus pallidus Chasen ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ pall, -ens, -esc, -id,-or แปลว่าจาง ความหมายคือ “นกที่มีสีจาง” พบครั้งแรกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม Howard and Moore (1980) ไม่จัด friedmanni เป็นชนิดย่อย แต่อาจเป็นเพียงชื่อพ้องของ pallidus
กระจายพันธุ์
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (23 ซม.) ปากสีน้ำเงิน บริเวณหัว คอ และลำตัวด้านล่างสีแดงเข้ม ลำตัวด้านบนสีดำ มีลายแต้มสีเหลืองเป็นทาง บริเวณหลังและปีกมีลายจุดสีขาวบริเวณด้านล่างของขนหางใกล้ปลายหาง ตัวผู้มีลายแถบสีดำเล็ก ๆ บริเวณอกตอนบน ตัวเมียไม่มีแถบดำพาดที่อก ขณะบินจะเห็นลายพาดสีขาวแกมเหลืองบริเวณโคนของขนปลายปีกและตรงกลางของขนกลางปีก ขนคลุมขนปีกสีเหลือง โคนของขนปีกสีจางตัดกับสีดำของขนปีกส่วนใหญ่ ตัวไม่เต็มวัยหัวมีสีน้ำตาลแกมเขียว ท้ายทอยสีเทาโดยมีลายขีดเล็ก ๆ สีเหลืองโดยตลอด ลำตัวด้านล่างส่วนใหญ่สีเหลืองแกมขาว อกมีลายขีด ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีเหลือง
อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูงไม่เกิน 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบกระโดดตามกิ่งและยอดไม้ แต่ก็สามารถบินได้ดี บางครั้งพบโฉบแมลงเหนือยอดไม้ อาหารได้แก่ แมลง และแมงมุม บางครั้งก็กินผลไม้บางชนิดด้วย
การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปกระเปาะแขวนอยู่ตามกิ่งไม้ วัสดุที่ใช้ทำรังไม่แตกต่างไปจากนกพญาปากกว้างอื่น ๆ แต่ตำแหน่งของรังมักอยู่ค่อนข้างสูง
ไข่
ไข่สีครีมแกมขาว มีลายสีม่วงหรือน้ำตาลแกมแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ยังไม่ทราบระยะเวลาที่พ่อแม่นกใช้ฟักไข่และเลี้ยงลูก
สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก จนกระทั่งพบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย friedmanni พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตก และภาคใต้เหนือคอคอดกระ ชนิดย่อย pallidus พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQHcGqnqfRm1aMxlIS6eqXhKsEbs_FXXy36Kerv9J4aJ4Xy7lEYYw&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQd1WTmwrRiWs1FkPmXGU7w51_HyEi7d2AWpc9lbg3oOS2syDXQIQ&s
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201409/12/53523/images/479489.jpg