นกยางเขียว
วงศ์ : Ardeidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butorides striatus (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ : Little heron
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Little green heron , Green-backed heron , Striated heron , Mangrove heron
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butorides striatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ = stria, -t แปลว่าลายหรือเป็นลาย และ –tus เป็นคำลงท้ายในภาษาละตินความหมายคือ “นกยางไฟที่ลำตัวเป็นลาย” พบครั้งแรกที่สาธารณรัฐซูรินาเม ในทวีปอเมริกาใต้ ทั่วโลกมี 36 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ
- Butorides striatus amurensis Von Schrenck ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือดินแดน Amur ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย
- Butorides striatus actophilus Oberholser ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ act, =a, -e, -I แปลว่าชายหาด และ phil, -a, -I, -o แปลว่าชอบความหมายคือ “นกยางเขียวที่ชอบอยู่ตามชายหาดหรือชายทะเล” พบครั้งแรกที่เกาะ Barussan
- Butorides striatus abbotti Oberholser ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคลคือ Abbott พบครั้งแรกที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย
กระจายพันธุ์
ทั่วไปในทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา ซีกโลกตะวันออก ยกเว้นยูเรเซียตะวันตก อินเดีย หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ พม่า ไทย อินโดจีน จีนด้านตะวันออกและใต้ ไต้หวัน เกาะไหหลำ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (43–45 ซม.) ปากขาวเรียวและตรง หัวเล็ก คอยาวปานกลาง ปีกยาว ปลายปีกมน ขายาวปานกลาง ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีเหมือนกัน ตัวเต็มวัยบริเวณหัวสีดำ มีขนสีดำ 2 เส้นยื่นออกจากบริเวณท้ายทอย ลำตัวด้านบนสีเทาเข้ม ลำตัวด้านล่างสีจางกว่าลำตัวด้านบน บริเวณคอด้านล่างจนถึงอกมีลายสีขาว ตัวไม่เต็มวัยสีออกเป็นสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างมีลายขีดสีเข้มกระจายทั่วไป
อุปนิสัยและอาหาร
มีกิจกรรมและหากินในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำ บางครั้งอาจพบมันหากินในเวลากลางวันด้วย พบอยู่โดดเดี่ยวตามบริเวณป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล และชายแหล่งน้ำจืดทั่วไป มันชอบเดินลุยตามเลน ชายน้ำ หรือในน้ำซึ่งระดับน้ำไม่ลึกมากนักบางครั้งเกาะยอดพืชจำพวกกกและอ้อที่ขึ้นอยู่ในน้ำหรือชายน้ำ หรือตามกิ่งไม้หรือตอไม้ในบริเวณแหล่งหากิน บินได้ดี แต่มักบินเรี่ยยอดหญ้าหรือชายน้ำ ขณะเกาะนิ่งเพื่อพักผ่อนหรือนอนหลับและขณะบินมักหดคอสั้น แต่ขณะหาอาหารจะยืดคอยาวออกไปพอสมควร อาหารได้แก่แมลงและสัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด เป็นต้น ส่วนใหญ่หาอาหารโดยเดินลุยหรือเดินย่องไปตามชายเลนหรือชายน้ำต้องหาเหยื่อ เมื่อพบเหยื่อจะยืดคอใช้ปากงับเหยื่อแล้วกลืนกิน ปกติมันจะหาเหยื่อขนาดไม่ใหญ่มากนัก สามารถกลืนกินได้ทั้งตัว
การผสมพันธุ์
นกยางเขียวผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนในช่วงนี้มักพบมันอยู่เป็นคู่ ขณะที่ช่วงอื่นมักพบมันอยู่โดดเดี่ยว เมื่อจับคู่กันแล้ว มันจะช่วยกันเลือกสถานที่หาวัสดุ และสร้างรัง ปกติมันทำรังรวมกันเป็นกลุ่ม 6–10 รัง หรือมากกว่า แต่บางครั้งจะสร้างรังอยู่โดดเดี่ยวรังเป็นแบบง่าย ๆ เพียงนำกิ่งไม้มาวางซ้อนกันตามกิ่งหรือง่ามไม้ที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ แล้วทำแอ่งตรงกลางเพื่อรองรับไข่ โดยทั่วไปรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางขอบนอก 25–30 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางขอบใน 10–15 ซม. และแอ่งตรงกลางลึก 5–7 ซม.
ไข่
รังมีไข่ 3–5 ฟอง สีออกเขียว ไม่มีจุดหรือลาย มีขนาดเฉลี่ย 29.0x35.0 มม. โดยวางไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 15–17 วัน ลูกนกจะออกจากไข่เองโดยใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยสีเทาปกคลุมลำตัวด้านบนเล็กน้อย ลืมตา แต่ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกให้ความอบอุ่นและหาอาหารมาป้อนด้วยการสำรอกใส่ปากลูกนก เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้ดีแล้ว ซึ่งใช่เวลา 5–6 สัปดาห์หลังออกจากไข่ ก็จะแยกจากพ่อแม่ออกไปหากินเองตามลำพัง
สถานภาพ
เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมายังประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย amurensis เป็นนกอพยพพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย actophilus เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนชนิดข่อย abbotti เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้
กฎหมาย
กฎหมายจัดนกยางเขียวทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง



แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0e/Butorides_striata_-_Laem_Pak_Bia.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/bb/Butorides_striatus_amurensis_at_kanonji.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/56/Butorides_striatus_-_Daintree_River.jpg
https://c1.staticflickr.com/1/50/125696976_d78ad2d797_b.jpg