นกกระจิบธรรมดา

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Orthotomus sutorius01.jpg

วงศ์ : Cisticolidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthotomus sutorius (Pennant) 1769.
ชื่อสามัญ : Common Tailorbird
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกระจิบสวน, นกกระจิบหางยาว, Long-tailed Tailorbird

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orthotomus sutorius ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ sutor แปลว่าช่างทำรองเท้า มีความหมายเกี่ยวกับลักษณะรังของนก ชนิดนี้ที่ใช้ใบไม้ 2 ใบมาเย็บติดกันคล้ายรองเท้า พบครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา ทั่วโลกมี 9 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ Orthotomus sutorius inexpectatus La Touche ชื่อชนิดย่อยเป็นคำ ในภาษาละตินคือ inexpectata แปลว่าไม่คาดหมาย อาจหมายถึงการพบชนิดย่อยนี้โดยบังเอิญ พบครั้งแรก ที่ประเทศจีน และ Orthotomus sutorius maculicollis Moore ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ macula, -t แปลว่าลายจุด และ coll, -i หรือ colis แปลว่าคอ ความหมายคือ “บริเวณคอเป็นลายจุด” พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์
ตั้งแต่อินเดียจนถึงจีนตอนใต้ เกาะ ไหหลำ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะชวา

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (12 ซม.) หน้าผากสีน้ำตาลแดง หัวตาและคิ้วสีเนื้อ ลำตัวด้านบนสีเขียวถึงเขียวแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเนื้ออ่อน บางครั้งอกและคอหอยมีโคนขนเป็นสีเข้ม ทำให้ดูคล้ายกับมีแถบสีเทา ช่วงฤดูผสมพันธุ์หางของตัวผู้อาจยาวกว่า 3.75 ซม.

อุปนิสัยและอาหาร
พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่ารุ่น ป่าชายเลน ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และสวน ผลไม้ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาจพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ช่วงฤดูผสมพันธุ์พบอยู่เป็นคู่ มักพบเกาะและกระโดดไปตามกิ่งภายในเรือนยอดของต้นไม้ ไม้พุ่ม รวมถึงกอหญ้าและพืชต่าง ๆ ขณะเกาะหางมักตั้งขึ้นในแนวเกือบตั้งฉากกับลำตัว บินได้ดี แต่มักเป็นระยะทางสั้น ๆ ระหว่างกิ่งไม้ ต้นไม้ หรือต้นพืชต่าง ๆ มีเสียงร้องที่คุ้นเคยกันดี “จิบ-จบ-จิบ” ติดต่อกัน 2-3 พยางค์ อาหาร ได้แก่ แมลงและตัวหนอน นอกจากนี้ยังมี รายงานว่ากินน้ำหวานดอกไม้บางชนิดด้วย

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ทำรังตามต้นไม้หรือพุ่มไม้ที่มีใบค่อนข้างใหญ่ เช่น มะเดื่อ แสงจันทร์ จำปี จำปา เป็นต้น ทั้งสองเพศช่วยกันเลือกสถานที่ทำรัง หาวัสดุ และช่วยกันสร้างรังด้วยการโน้มใบพืชดังกล่าว ที่อยู่ใกล้กัน 2-3 ใบมาเย็บหรือเชื่อมขอบใบพืชให้ติดกันด้วยใยแมงมุมให้เป็นรูปกระเปาะ มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านบน สีของรังก็คือสีของใบพืช จึงมองเห็นรังได้ยาก นอกจากจะเฝ้าสังเกตการเข้าออกรังของนกเท่านั้น ภายในรังมักมีวัสดุต่าง ๆ โดยเฉพาะดอกหญ้าและใบไม้แห้งรองอีกชั้นหนึ่ง โดยทั่วไปรังมีปากทางเข้าออกกว้าง 4-5 ซม. ลึก 7-10ซม. และอยู่สูงจากพื้นดิน 1-3 เมตร

ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง ไข่สีขาว ครีม ชมพูอ่อน น้ำเงินอ่อน หรือเขียวแกมน้ำเงิน มีลายจุดสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล สีดำ หรือสีดำแกมแดงกระจายทั่วฟองโดย เฉพาะด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 11.6x16.4 มม.ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ จะเริ่มฟักเมื่อออกไข่ฟองสุดท้ายของรังแล้ว ใช้ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 11-13 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ รูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโต ท้องป่อง ยังไม่ลืมตา และไม่มีขนคลุมลำตัว พ่อแม่ต้องช่วยกันกก โดยให้ซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และช่วยกันหาอาหารมาป้อน ซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ ตัวหนอน อายุ 3-4 สัปดาห์ลูกนกจะมีขนาดโตเท่ากับพ่อแม่ มีขนคลุมเต็มตัว แต่สียังไม่เหมือน โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากที่ยังไม่ออกเป็นสีแดง สามารถบินได้อย่างแข็งแรง และอีกไม่นานนักก็จะทิ้งรังไป นกกระจิบธรรมดามักถูกนกอีวาบตั๊กแตนแอบมาวางไข่ในรังให้ฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนแทน โดยไข่และลูกนกกระจิบธรรมดาจะถูกทำลายโดยแม่นกอีวาบตั๊กแตนหรือลูกนกอีวาบตั๊กแตนที่ฟักออกมาจากไข่ ก่อนลูกนกเจ้าของรัง

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย inexpectatus พบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ชนิดย่อย maculicollis พบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกระจิบธรรมดา


Orthotomus sutorius02.jpg Orthotomus sutorius03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/7e/%E2%99%80_Common_tailorbird_%28Orthotomus_sutorius%29_Photograph_by_Shantanu_Kuveskar.jpg
https://download.ams.birds.cornell.edu/api/v1/asset/126406831/1800
https://www.khaosok.com/wp-content/uploads/2016/07/Common-Tailorbird.jpg