นกจาบคาคอสีฟ้า

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Merops viridis01.jpg

วงศ์ : Meropidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Merops viridis Linnaeus 1785.
ชื่อสามัญ : Blue-throated Bee-eater
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

นกจาบคาคอสีฟ้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Merops viridis ชื่อชนิดเป็นคำในภาษาละตินคือ viridis (virid, -esc) แปลว่าสีเขียว ความหมายคือ “นกที่มีสีเขียว” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกจาบคาคอสีฟ้า 2 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Merops viridis viridis Linnaeus ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด

กระจายพันธุ์
ในจีนตอนใต้ เกาะไหหลํา ไทย มาเลเซีย อินโดจีน ยกเว้นประเทศลาว หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (27-28 ซม.) ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน คือมีคอหอยสีฟ้า กระหม่อม ท้ายทอย และหลังตอนหน้า เป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม อกและลำตัวด้านล่างสีเขียวอมฟ้า ขนหางคู่กลางยาวกว่าขนหางคู่อื่น ขณะบินเห็นตะโพกเป็นสีฟ้าตัดกับสีลำตัวด้านบนซึ่งเป็นสีเขียวเข้ม ตัวไม่เต็มวัยกระหม่อมท้ายทอย และหลังตอนท้ายสีเขียวเข้ม ขนหางคู่กลางไม่ยาวเหมือนของตัวเต็มวัย

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ป่ารุ่น ป่าชายเลน และป่าละเมาะ ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยว หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ มันมีอุปนิสัยทั่วไปไม่แตกต่างจากนกจาบคาชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน เช่น มักเกาะ ตามกิ่งไม้แห้งหรือยอดไม้ โฉบจับแมลงกลางอากาศด้วยปากแล้วกลับมาเกาะที่เดิม เป็นต้น อาหาร ได้แก่ แมลงที่บินได้ต่าง ๆ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ด้วง ตั๊กแตน เป็นต้น

การผสมพันธุ์
นกจาบคาคอสีฟ้าผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ทั้งสองเพศช่วยกันทำรังตามฝั่งแม่น้ำ เชิงเขา และเนินดิน โดยใช้ปากและกรงเล็บขุดดินให้เป็นโพรงลึก 2.3-4.5 เมตร ปากโพรงแคบ ก้นโพรงกว้าง ไม่มีวัสดุรองโพรง มันมักทำรังรวมกันเป็นกลุ่ม

ไข่
รังมีไข่ 3-4 ฟอง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 21.0x23.5 มม. มันออกไข่แต่ละฟองห่างกันทุก 2-3 วัน ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ลูกนกออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตาและไม่มีขนปกคลุมลำตัว พ่อแม่ต้อง ช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อนจนกว่าลูกนกจะแข็งแรงและบินได้ รวมระยะเวลาเลี้ยงลูก 12-14 วัน เมื่อลูกนกแยกจากพ่อแม่ไปแล้ว พ่อแม่จะยังคงใช้รังต่อไปอีกชั่วระยะหนึ่ง และจะทิ้งรังเมื่อสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์แล้ว

สถานภาพ
นกจาบคาคอสีฟ้ามีทั้งที่เป็นนก ประจำถิ่นนกอพยพผ่าน และนกอพยพมายังประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พวกที่เป็นนกประจำถิ่นพบ ไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก แต่ในช่วงฤดูกาลอพยพจะพบบ่อยและปริมาณมาก

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกจาบคาคอสีฟ้าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกจาบคาคอสีฟ้า


Merops viridis02.jpg Merops viridis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR4OUW0T2BvYFXI2tNiEXNK4A7goZaCyIQ49YZKFqRocQJtCRHL&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT9cRXqipaxYo-bk-hS5dwFY1_9yOw0NyvYM30fwSWz_l-2TY3Q&s
https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2017/05/beeeater-blue-throated-20170510-hat-wanakorn-np.jpg