กระถิน

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Lead-tree.png

วงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit
ชื่อสามัญ : White popinac, Lead tree, Horse tamarind, Leucaena, Lpil-lpil
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : กะเส็ดโคก กะเส็ดบก, กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน, ผักก้านถิน, ผักหนองบก, กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก, ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน, กระถินยักษ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีขนาดความสูงประมาณ 3 - 10 เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม เปลือกต้นมีสีเทา และมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป
ใบ : ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 12.5 - 25 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบมีขน ใบแยกแขนงประมาณ 3 - 19 คู่ เรียงตรงข้ามกัน มีความยาวประมาณ 5 - 10 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 5 - 20 คู่ เรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 2 - 5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.6 - 2.1 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบมีขน แต่ละใบมีเส้นแขนงอยู่ประมาณข้างละ 5 - 6 เส้น ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
ดอก : ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นตามง่ามใบและปลายกิ่งประมาณ 1 - 3 ช่อ กลีบเลี้ยงโคนติดกันลักษณะเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก มีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2 - 2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม โคนสอบ ฝักเมื่อแก่จะแตกตามยาว ฝักยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5 - 2 เซนติเมตร ในฝักมีเมล็ดเรียงตามขวางอยู่ประมาณ 15 - 30 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนมกราคม
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี

สรรพคุณ

1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก, เมล็ดแก่)
2. กระถินมีฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)
3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ยอดอ่อน)
4. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยอดอ่อน)
5. กระถินอุดมไปด้วยวิตามินเอ จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้ (ยอดอ่อน)
6. ช่วยบำรุงหัวใจ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)
7. ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ดแก่)
8. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)
9. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)
10. ช่วยแก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (ดอก)
11. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ฝัก)
12. เมล็ดกระถินใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม (Ascariasis) สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 25 - 50 กรัม ส่วนเด็กให้ใช้ 5 - 20 กรัมต่อวัน โดยใช้รับประทานขณะท้องว่างในตอนเช้าประมาณ 3 - 5 วัน (เมล็ด)
13. ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก, เมล็ดแก่)
14. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก, เมล็ดแก่)
15. ช่วยลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)
16. ดอกกระถินช่วยบำรุงตับ (ดอก, เมล็ดแก่)
17. ฝักกระถินเป็นยาฝาดสมาน ใช้ห้ามเลือด (ฝัก, เปลือก)

ประโยชน์

1. ยอดอ่อนกระถิน ฝักอ่อน และเมล็ดใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยยอดใบจะใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ส้มตำ หรือยำหอยนางรม ส่วนเมล็ดอ่อนชาวอีสานใช้ผสมในส้มตำมะละกอหรือรับประทานกับส้มตำ ส่วนชาวใต้ใช้เมล็ดอ่อนและใบอ่อนรับประทานร่วมกับหอยนางรม
2. ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ แพะ แกะ ฯลฯ
3. ใบกระถินอุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนและเกลือโพแทสเซียม สามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้
4. เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายชนิด เช่น เข็มกลัด สายสร้อย เข็มขัด ฯลฯ
5. ลำต้นหรือเนื้อไม้กระถินสามารถนำมาใช้ทำด้ามอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร ทำฟืน เผาทำถ่าน และได้น้ำส้มควันไม้
6. เปลือกต้นกระถินให้เส้นใยที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นกระดาษได้ แต่มีคุณภาพไม่ดีนัก
7. เปลือกต้นกระถินสามารถนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหมได้ โดยเปลือกต้นแห้ง 3 กิโลกรัมจะสามารถย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยจะให้สีน้ำตาล
8. สายพันธุ์กระถินที่ทำการปรับใหม่จะมีขนาดลำต้นสูงกว่าสายพันธุ์เดิม หรือที่เรียกว่า "กระถินยักษ์" ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน แนวกันลม และช่วงบังแสงแดดให้แก่พืชที่ปลูกได้ เหมาะในพื้นที่ที่มีการดูแลรักษาต่ำ และต้นกระถินยังมีความแข็งแรง เจริญเติบโตได้เร็ว
9. ตามคติความเชื่อในตำราพรหมชาติฉบับหลวงกล่าวว่า กระถินเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำมาปลูกร่วมกับต้นสารภี มีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไรต่าง ๆ ได้

คำแนะนำ

1. เนื่องจากใบของกระถินมีสารที่เป็นพิษคือสารลิวซีนีน (Leucenine) หากสัตว์กระเพาะเดียวกินใบกระถินในปริมาณสูงอาจทำให้ขนร่วงและเป็นหมันได้ แต่ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษเนื่องจากการกินกระถินในคน และยังมีรายงานว่ากระถินเป็นพืชที่มีคุณสมบัติช่วยดูดธาตุซีลีเนียมจากดินมาสะสมไว้ได้มาก จึงอาจทำให้เกิดพิษเนื่องจากธาตุนี้ได้
2. ควรเลือกซื้อยอดกระถินหรือฝักอ่อนที่มีความสดใหม่และไม่เหี่ยว ส่วนวิธีการเก็บรักษานั้นให้นำกระถินที่ได้มาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ดี แล้วนำมาใส่กล่องพลาสติกและปิดฝาให้สนิท เก็บเข้าแช่ตู้เย็นในช่องผัก จะสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=YbBXQXTkwOQ

>>> กระถิน <<<


Lead-tree1.png Lead-tree2.png Lead-tree3.png Lead-tree4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2013/11/ฝักกระถิน.jpg
https://medthai.com/images/2013/11/ต้นกระถิน.jpg
https://medthai.com/images/2013/11/ใบกระถิน.jpg
https://medthai.com/images/2013/11/ดอกกระถิน.jpg
https://medthai.com/images/2013/11/ผักกระถิน.jpg