มะละกอ

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Malako.png

วงศ์ : CARICACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carica papaya L.
ชื่อสามัญ : Papaya
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : มะก้วยเทศ, หมักหุ่ง, ลอกอ, กล้วยลา, แตงต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดใหญ่ อายุหลายปี สูง 2 - 8 ม. ลำต้นตั้งตรงมักไม่แตกกิ่ง ไม่มีแก่น ต้นอวบน้ำ มีรอยแผลเป็นของก้านใบที่หลุดร่วงไป มีน้ำยางสีขาวทั่วลำต้น
ใบ : ใบเรียงสลับรอบต้นบริเวณยอด ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือกว้าง ยาว 25 - 60 ซม. โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉกลึก 7 - 11 แฉก และจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 25 - 90 ซม. เป็นท่อกลวงยาว
ดอก : ดอกช่อสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ออกที่ซอกใบ มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 1.5 - 2.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 - 2.5 ซม. เกสรเพศผู้มี 10 อัน ดอกเพศเมียและดอกสมบูรณ์เพศออกเดี่ยวหรือ 2 - 3 ดอก กลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้
ผล : เป็นผลสดรูปยาวรี ปลายแหลม ผลดิบมีเนื้อสีขาวอมเขียว ผลสุกมีเนื้อสีแดงส้ม เนื้อหนาอ่อนนุ่ม รสหวาน มีเมล็ดมาก รูปไข่สีน้ำตาลดำ ผิวขรุขระ มีถุงเมือกหุ้ม
การขยายพันธุ์ : สามารถปฏิบัติได้หลายวิธี ทั้งแบบใช้เพศ ได้แก่ การเพาะเมล็ด และแบบไม่ใช้เพศ ได้แก่ การปักชำ การติดตา การตอนกิ่ง และการเพาะเนื้อเยื่อ แต่เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการขยายพันธุ์แบบใช้เพศในการปลูกมะละกอเพื่อการค้า เนื่องจากทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับผลผลิตที่จะได้รับ ส่วนขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศมักจะทำกันในกรณีที่ต้องการรักษาพันธุ์ดีเอาไว้ เนื่องจากการขยายพันธุ์แบบนี้จะทำให้มะละกอไม่มีการกลายพันธุ์ และเพื่อเปลี่ยนยอดมะละกอที่มีดอกตัวผู้มีจำนวนมากเกินไป ให้เป็นต้นตัวเมียหรือต้นสมบูรณ์เพศ

สรรพคุณ

1. มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มารดามีน้ำนมมากขึ้น
2. มะละกอมีส่วนช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
3. มะละกอมีเอนไซม์ที่เป็นยาช่วยย่อยอาหาร
4. ช่วยป้องกันลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันได้
5. ช่วยรักษาอาการขัดเบา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ รากแห้งอีกครึ่งกำมือ หั่นแล้วนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหาร
6. เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้อาการท้องผูก ด้วยการกินเนื้อมะละกอสุก
7. ช่วยในการย่อยอาหาร
8. ใช้ฆ่าพยาธิ ด้วยการใช้ยางจากผลดิบซึ่งเป็นยาช่วยย่อยโปรตีน
9. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา จากรากมะละกอ
10. ช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
11. ช่วยรักษาอาการเท้าบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาพอกบริเวณนั้น ๆ
12. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยใช้รากมะละกอนำมาตำให้แหลกแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาทาบริเวณนั้น ๆ
13. ใช้รักษาอาการผดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ด้วยใช้ใบมะละกอ 1 ใบ เกลือ 1 ช้อนชา น้ำมะนาวจำนวน 2 ผล นำมาตำรวมกันให้ละเอียดแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่น
14. ช่วยรักษาโรคกลาก เกลื้อน เท้าเปื่อย ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบมาทาวันละ 3 ครั้ง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อราได้
15. ช่วยรักษาอาการคันอันเกิดมาจากพิษของหอยคัน ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบ ๆ นำมาทาทั้งเช้าและเย็น
16. หากโดนเสี้ยนหรือหนามตำหรือหนามหักคาเนื้อใน หากนำยางมะละกอดิบมาทา หนามจะหลุดออกมา แต่ให้บ่งเปิดปากแผลก่อน
17. หากโดนตะปูตำเท้าเป็นแผล ให้นำผิวของลูกมะละกอดิบมาตำแล้วนำมาพอกแผล โดยเปลี่ยนใหม่วันละ 2 ครั้ง
18. ช่วยรักษาแผลพุพอง อักเสบ ด้วยการใช้ใบมะละกอที่แห้งกรอบนำมาบดให้เป็นผง นำไปผสมกับน้ำกะทิผสมให้พอเหนียว แล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง
19. ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้เนื้อมะละกอดิบ ๆ ต้มจนเปื่อย นำมาตำแล้วพอกบริเวณบาดแผล
20. ใช้รักษาอาการปวดหลังปวดข้อต่าง ๆ ด้วยการรับประทานมะละกอสุกอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
21. ช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง ด้วยการใช้รากมะละกอตัวผู้นำมาแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำมาทาบริเวณที่กล้ามเนื้อหรือบริเวณที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง
22. ช่วยลดอาการปวดบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ ไปย่างไฟหรือใช้น้ำร้อนลวก แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาตำให้พอพยาบแล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำมาทำเป็นลูกประคบก็ใช้ได้เหมือนกัน
23. ช่วยป้องกันการเกิดอาการตับโตหรือโรคที่เกี่ยวกับตับ
24. เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
25. มีงานวิจัยมะละกอพบว่าการรับประทานมะละกอเป็นประจำมีส่วนช่วยในการต่อต้านโรคมะเร็งได้

ประโยชน์

1. มะละกอมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งช่วยให้สุขภาพของคุณแข็งแรง
2. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอยู่เสมอ
3. ช่วยในการชะลอวัย ลดเลือน และป้องกันการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ
4. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
5. สามารถนำมาใช้เป็นทรีตเมนต์ทำหน้าให้หน้าใสได้อีกด้วย ด้วยการนำมะละกอสุกผสมกับน้ำผึ้งและนมสด แล้วนำมาปั่นให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำมาทาผิวหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วค่อยล้างออก
6. ใช้นำมารับประทานเป็นผลไม้หรือของว่าง
7. ใช้นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ส้มตำ เป็นต้น
8. สามารถนำมะละกอไปใช้หมักให้เนื้อนุ่มได้อีกด้วย เพราะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Papain ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผงหมักสำเร็จรูปที่เราเห็นขายกันอยู่ตามท้องตลาดนั่นเอง
9. นำมาแปรรูป การแปรรูปมะละกอ เช่น มะละกอแช่อิ่ม มะละกอแผ่น แยมมะละกอ มะละกอเชื่อม ซอสมะละกอ เยลลี่มะละกอ มะละกอแช่อิ่ม มะละกอสามรส มะละกอดอง มะละกอผง เป็นต้น

คำแนะนำ

1. ควรเลือกมะละกอที่มีคุณภาพ มีผิวสีเหลืองบางส่วน หรือเหลืองทั้งหมด และผลของมะละกอตรงบริเวณขั้วที่ติดกับลำต้นไม่ควรนิ่มเหลว
2. ไม่ควรรับประทานมะละกอที่ดิบจนเกินไป ซึ่งผลที่ดิบเกินไปจะมีเปลือกนอกสีเขียวและมีเนื้อที่แข็งมาก
3. ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น ผิวเหลือง เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ
4. หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับยางมะละกอ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาต่อผิวหนังได้
5. สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะละกอเพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า สารเคมีพาเพนที่อยู่ในมะละกออาจเป็นพิษต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิด ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อปลอดภัยทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
6. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการรับประทานมะละกอ เพราะอาจส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นก่อนรับประทานมะละกอ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คและควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
7. ผู้ที่มีอาการแพ้สารพาเพน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะละกอ เนื่องจากในมะละกอจะมีสารชนิดนี้อยู่
8. ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดไม่ควรรับประทานมะละกอ โดยเฉพาะมะละกอที่ผ่านการดอง อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระหว่างและหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานมะละกออย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=jO8bW2kozRo

>>> มะละกอ <<<


Malako1.png Malako2.png Malako3.png Malako4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://img.kapook.com/u/2018/wanchalerm/Health_01_61/py1.jpg
https://www.sentangsedtee.com/wp-content/uploads/2016/10/11-2.png
https://4.bp.blogspot.com/-JbEaEih9u3Y/V9F1nzLo4JI/AAAAAAAAAek/tKf2wONthH83mhRM_N0jnZlT0PXWIni2QCLcB/s640/01.jpg
http://www.rsusite.com/thaipharmacy/wp-content/uploads/2016/12/caricaceae3.jpg
https://www.chiangmainews.co.th/page/wp-content/uploads/2016/08/B2-20.jpg