ชา

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Thea.png

วงศ์ : THEACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camellia sinensis (L.) Kuntze
ชื่อสามัญ : Tea, Thea
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : เมี่ยง, เมี่ยงป่า, ชา, ลาบ่อ, นอมื่อ, แต๊, ฉา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ชาสายพันธุ์จีนจัดเป็นพรรณไม้ขนาดย่อมจนถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1 - 6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักเล็ก ๆ หรือเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6 - 12 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและเหนียว เรียบเป็นมัน คล้ายใบข่อยแต่จะยาวและใหญ่กว่า เส้นใบเป็นตาข่าย ส่วนก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกส้มเขียวหวาน โดยดอกชาจะมีลักษณะใหญ่สีสวย ดอกเป็นสีขาวนวล และมีกลิ่นหอม ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 1 - 4 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่กลางดอกจำนวนมาก
ผล : เป็นผลแบบแคปซูล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 - 4 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1 - 3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน หรือค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหรือสีน้ำตาลอมแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 - 14 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ

1. ใบนำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำกิน ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย (ใบ)
2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้ามืดตามัว (ใบ)
3. ใบชานำมานึ่งแล้วหมักกับเกลือ ทำเป็นคำ ๆ ใช้อม จะช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก (ใบ)
4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)
5. ใบชามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ใบ)
6. รากชามีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ (ราก)
7. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)
8. กิ่งและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ,กิ่ง)
9. ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานใช้รักษาและลดอาการท้องร่วง (ใบ)
10. ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)
11. ใบแห้ง ใช้ชงใส่น้ำตาล กินเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบ)
12. รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)
13. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)
14. ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)
15. ช่วยแก้ตับอักเสบ (ราก)
16. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษ (ใบ) กิ่งและใบ นำมาชงแก่ ๆ ใช้รักษาอาการเป็นพิษของยาอันตรายที่เป็นอัลคาลอยด์ต่าง ๆ (กิ่งและใบ)
17. รากมีสรรพคุณช่วยต้านเชื้อ แก้ปากเป็นแผล (ราก)
18. กิ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (กิ่ง)
19. ใบใช้เป็นชะล้างแผล สมานแผล แก้บวม (ใบ)
20. ราก เมล็ดและน้ำมันใช้เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย (ราก,เมล็ดและน้ำมัน) กากใบชาใช้เป็นยาพอกแผล สำหรับแผลที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก (กากใบชา) ส่วนกิ่งและใบใช้ทำเป็นน้ำยาสมานของกรดแทนนิน ใส่แผลไหม้พอง (กิ่งและใบ)
21. ราก เมล็ดและน้ำมัน ใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (ราก,เมล็ดและน้ำมัน) ส่วนใบก็มีสรรพคุณรักษากลากเกลื้อนได้เช่นกัน (ใบ)
22. ใบชามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี (ใบ)

ประโยชน์

1. ในช่วงที่อากาศร้อน ๆ การดื่มชาจะช่วยทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ เนื่องจากในใบชามีสารโพลีฟีนอล กรดอะมิโน และคาร์โบไฮเดรต เมื่อสารเหล่านี้เกิดปฏิกิริยากับน้ำลายจะช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกายได้
2. ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีธาตุอาหารอยู่หลายชนิดที่ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะใบชามีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ช่วยหมุนเวียนโลหิต มีอิทธิพลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ภายในร่างกาย และยังมีการใช้ชาผสมกับยาแก้ปวด รักษาโรคไมเกรน เพื่อช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น
3. การดื่มชาเป็นประจำจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสดชื่น ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชราและมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ
4. การดื่มชามีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และช่วยสลายไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล โดยไปเพิ่มการขับคอเลสเตอรอลในร่างกายผ่านทางน้ำดีในอุจจาระ
5. ในประเทศจีนรู้กันมานานแล้วว่า ชาจีนสามารถควบคุมการเกิดโรคอ้วนได้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ต้านจุลชีพ ลดการอักเสบ สมานแผล ช่วยขับและล้างสารพิษในร่างกาย เนื่องจากใบชามีสารโฟลีฟีนอลที่สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบเชื่อว่าชาสามารถช่วยป้องกันโรคที่ก่อการอักเสบเรื้อรังได้ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์
6. คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการดื่มชาสามารถช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร เพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเสริมสุขภาพ
7. ชามีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และการดื่มชายังช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย
8. การดื่มชาแก่ ๆ สักถ้วย จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และช่วยในการย่อยอาหารจำพวกวิตามินกลุ่มต่าง ๆ
9. ชายังมีสารไอโอดีน และฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ฟลูออไรด์ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันฟันผุและเสริมมวลกระดูกได้
10. ใบอ่อนมีรสฝาด หอม หวาน ใช้ยำกินได้อร่อยมาก
11. ใบอ่อนนำมาปรุงแต่งและอบกลิ่นเป็นใบชา ส่งไปขายเป็นสินค้าตามต่างประเทศ ในบ้านเราเรียกว่าต้นเมี่ยง ส่วนมากทางภาคเหนือรู้จักกันมานาน
12. กากเมล็ดมีสารซาโปนิน (Saponin) ที่มีคุณสมบัติช่วยล้างสิ่งต่าง ๆ ได้สะอาดดีมาก และยังใช้สระผมเพื่อล้างสิ่งสกปรกออกจากผล นอกจากนี้น้ำมันที่ติดกากเมล็ดยังช่วยทำให้เส้นผมชุ่มชื้นเป็นมันอีกด้วย
13. กากชามีประโยชน์ช่วยในการดูดกลิ่น ส่วนใบชายังใช้ใส่ลงในโลงศพ เพื่อดูดกลิ่นเหม็นจากศพได้ด้วย
14. ส่วนคนเมืองจะใช้ใบอ่อนหมักเป็นเมี่ยงขาย ส่วนยอดอ่อนเก็บเป็นผลผลิตไว้ขาย

คำแนะนำ

1. สำหรับบางคน การดื่มชาอาจจะไม่เหมาะสมและอาจทำให้เกิดโทษได้ ได้แก่ ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะเป็นแผล สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ รวมไปถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบก็ไม่ควรดื่มชา
1.1 ผู้ที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอน เพราะคาเฟอีนที่มีอยู่ในชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน และลดความสามารถและระยะเวลาในการนอนหลับ
1.2 ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ไม่ควรดื่มชา เพราะคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
1.3 คาเฟอีนยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้อีกด้วย ดังนั้นชาจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
1.4 ส่วนผู้ที่มีไข้สูง สาเหตุที่ไม่ควรดื่มชาก็เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ยิ่งทำให้ตัวร้อนมากขึ้น และแทนนินยังทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาน้อยกว่าปกติ
1.5 คาเฟอีนมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้จึงไม่ควรดื่ม เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด อาเจียนออกมาเป็นน้ำใส ๆ และไม่ควรดื่มชาเวลาท้องว่างในตอนเช้า เพราะจะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ แต่ถ้าอยากดื่มชาในตอนเช้า ก็ควรหาอะไรกินรองท้องก่อน
1.6 ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ก็ไม่ควรดื่มชามากจนเกินไป เพราะร่างกายจะไม่สามารถขับน้ำออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
1.7 ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรดื่มชา เพราะอาการกระสับกระส่ายจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะฤทธิ์ของคาเฟอีน
1.8 สำหรับสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดไม่ควรดื่มชา โดยเฉพาะก่อนและหลังกินยาคุม 4 ชั่วโมง เพราะสารแทนนินจะทำให้สารต่าง ๆ ในยาคุมกำเนิดละลายตัวยากและดูดซึมได้น้อยลง
1.9 สตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ควรดื่มชา สาเหตุก็เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
1.10 แม่ลูกอ่อนที่ให้นมลูก ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้สารต่าง ๆ ในน้ำชาจะผ่านไปทางนมแม่ ทำให้ทารกขาดแร่ธาตุสำคัญ และยังทำให้ความสามารถในการขับน้ำนมของแม่ลดลงด้วย
1.11 เด็กเล็กก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้ร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ เป็นอุปสรรพคุณต่อการเจริญเติบโต
2. สารคาเฟอีนในชา มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและมีผลเสพติดอ่อน ๆ ถ้าไม่ได้ดื่มแล้วอาจจะรู้สึกหงุดหงิดได้ และร่างกายไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัม (ประมาณ 4 - 5 ถ้วย) ผลของคาเฟอีนจะอยู่ได้ประมาณ 8 - 14 ชั่วโมง และร่างกายจะต้องใช้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมงในการสลายคาเฟอีน ถ้าหากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงหรือประมาณ 3,000 - 10,000 มิลลิกรัม จะทำให้ตายได้ในเวลาอันสั้น
3. ใบชาที่มีคุณภาพต่ำจะมีกรดแทนนินอยู่มาก มีผลต่อกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ส่งผลให้ดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยอาการขาดธาตุเหล็กในเลือด และเมื่อแทนนินรวมกับโปรตีนจะทำให้ย่อยโปรตีนยากขึ้นด้วย
4. การดื่มชาที่เข้มข้นมาก ๆ จะมีผลทำให้กระเพาะอาหารดูดซับอาหารได้น้อยลง ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ท้องผูกได้ ยิ่งถ้าดื่มตอนท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่ทางที่ดีควรจะดื่มชาหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
5. ใบชามีสารออกซาเลต (Oxalate) แม้จะมีอยู่น้อย แต่ถ้าดื่มมาก ๆ และดื่มเป็นประจำ สารนี้ก็อาจสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อไตได้ใบชามีสารออกซาเลต (Oxalate) แม้จะมีอยู่น้อย แต่ถ้าดื่มมาก ๆ และดื่มเป็นประจำ สารนี้ก็อาจสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อไตได้
6. ใบชายังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีโทษต่อร่างกาย แต่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง นั่นก็คือฟลูออไรด์ที่มีในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดการสะสมและมีผลทำให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคข้อ โรคกระดูกพรุน และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูกได้ แต่ถ้าดื่มไม่มากก็ไม่ต้องเป็นกังวล
7. ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา ไม่ว่าจะยาแผนโบราณหรือยาแผนปัจจุบัน เพราะสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจไปทำปฏิกิริยากับยาที่กินเข้าไป เช่น ทำให้คุณสมบัติของยาลดลง หรืออาจกลายเป็นพิษได้ แต่หากต้องดื่มชาในยามป่วยก็ควรต้องดื่มก่อนหรือหลังกินยาประมาณ 2 ชั่วโมง และให้ชงอ่อน ๆ เข้าไว้
8. ผู้ที่รับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม เช่น เกลือแร่ ธาตุเหล็ก หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ ทำให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
9. ในระหว่างที่กินยาบำรุงโลหิตก็ไม่ควรดื่มชา เพราะแทนนินจะไปทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารสำคัญในการช่วยบำรุงโลหิต ทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อย รวมไปถึงผู้ที่กินยาบำรุงต่าง ๆ เช่น โสม เขากวาง ก็ไม่ควรดื่มชาเช่นกัน เพราะมันจะไปหักฤทธิ์กัน
10. การดื่มชาไม่ควรดื่มชาในขณะที่ยังร้อนจัด เพราะความร้อนจะไปทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากจนทำให้เกิดอันตรายในช่องปาก ลำคอ รวมถึงลำไส้ได้
11. ไม่ควรดื่มชาที่ชงค้างไว้นานหลายชั่วโมง เพราะจะมีกรดแทนนินสูง และสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารพิษได้

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=TBqPQ8y7-N0

>>> ชา <<<


Thea1.png Thea2.png Thea3.png Thea4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/08/ใบชา.jpg
https://medthai.com/images/2014/08/ต้นชา.jpg
https://medthai.com/images/2014/08/ชา.jpg
https://medthai.com/images/2014/08/ดอกชา.jpg
https://medthai.com/images/2014/08/ผลชา.jpg

ดึงข้อมูลจาก "http://rspg.svc.ac.th/herb/index.php?title=ชา&oldid=790"