ย่านางแดง

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Bauhinia.png

วงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia strychnifolia Craib.
ชื่อสามัญ : -
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : สยาน, เครือขยัน, หญ้านางแดง, ขยัน, เถาขยัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น โดยมีความยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกเถาเรียบ เถามีขนาดกลาง ๆ และมักแบนมีร่องตรงกลาง เปลือกเถาเป็นสีออกเทาน้ำตาล ส่วนเถาแก่มีลักษณะกลมและเป็นสีน้ำตาลแดง มีมือสำหรับการยึดเกาะ ออกเป็นคู่ ๆ ปลายม้วนงอ ส่วนรากมีผิวขรุขระสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยบากตามขวางเล็ก ๆ ทั่วไป ลักษณะของเนื้อไม้ภายในรากเป็นสีน้ำตาลแดง
ใบ : มีใบดกและหนาทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม หรือเว้าตื้นกึ่งเรียวแหลมถึงมีติ่งหนาม โคนใบมนเว้าตื้น ๆ หรือมีลักษณะกลมถึงรูปหัวใจตื้น ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 - 7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 - 12 เซนติเมตร ผิวใบมันเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบและหลังใบเรียบเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบประมาณ 3 - 5 เส้น ปลายเส้นใบโค้งจรดกัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2 - 3.5 เซนติเมตร และมีหูใบที่หลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตามปลายกิ่ง มีรูปทรงเป็นรูปทรงกระบอกแคบ โค้งเล็กน้อย ปลายบานและห้อยลง มีความยาวประมาณ 15 - 100 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีแดงสดมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.2 - 1.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ปลายกลีบดอกมีลักษณะมนแหลม ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 3 ก้าน บ้างว่า 5 ก้าน ก้านเกสรเป็นสีแดงยื่นพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก 7 ก้านมีความยาวไม่เท่ากัน ส่วนรังไข่มีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคลุม ก้านสั้น ส่วนก้านเกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียไม่ชัดเจน มีใบประดับเป็นรูปลิ่ม ติดทน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงเป็นสีแดง 5 กลีบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคลุม สีชมพูอ่อนหรือสีแดง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ออกผลเป็นฝัก ฝักย่านางแดงมีลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลม ส่วนโคนฝักเป็นมีลักษณะเป็นรูปหอก ฝักยาวประมาณ 15 - 16 เซนติเมตร เปลือกฝักแข็ง เมื่อแก่จะแตกอ้า ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8 - 9 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการแยกหัว ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยสามารถพบต้นย่านางแดงได้ตามป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าดิบเขา และตามที่โล่งแจ้ง

สรรพคุณ

1. เถาย่านางแดงช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เถา)
2. ช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคหัวใจบวม (เถา)
3. ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย (เถา)
4. ช่วยแก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย ด้วยการใช้ฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เถา, ราก, ใบ)
5. รากหรือเหง้าใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้และแก้ไข้ทั้งปวง โดยใช้เหง้านำมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือจะต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาก็ได้ (ราก, เหง้า) ส่วนเถาใช้เป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้หมากไม้ ไข้กาฬ ไข้หัว ไข้สุกใส ไข้เซื่องซึม ไข้ป่าเรื้อรัง ไข้ทับระดู และไข้กลับไข้ซ้ำ (เถา)
6. ใช้เป็นยาแก้พิษทั้งปวง แก้พิษเบื่อเมา พิษเบื่อเมาของเห็ด ถอนพิษยาเมา แก้เมาสุรา แก้ยาเบื่อ ยาสั่ง ถอนพิษผิดสำแดง โดยใช้เหง้านำมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือจะต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาก็ได้ (เถา, ราก, เหง้า, ใบ)
7. ช่วยล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบหรือเถานำมาต้มดื่มเป็นประจำหรือใช้กินแทนน้ำ ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ (ใบ, เถา)
8. ช่วยล้างสารพิษจากยาเสพติด ซึ่งหมอพื้นบ้านบางแห่งได้นำรากหรือเถามาฝนให้ผู้ป่วยที่กำลังเลิกยาเสพติดดื่ม เพื่อช่วยล้างพิษของยาเสพติดในร่างกาย (เถา, ราก)
9. ช่วยขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง (เถา, ราก, ใบ)
10. ลำต้นหรือรากใช้เข้าเป็นยาบำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรขณะอยู่ไฟ จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ลำต้น, ราก)
11. มีข้อมูลระบุว่าสมุนไพรย่านางแดงสามารถนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อราได้ (ใบย่านางแดงแคปซูล)
12. ย่านางแดงมีสรรพคุณเหมือนกับย่านางเขียวหรือย่านางขาวทุกประการ แต่จะมีฤทธิ์ที่แรงกว่าและดีกว่า (โดยส่วนใหญ่สมุนไพรที่มีสีเข้มกว่าจะมีสารสำคัญที่มีคุณภาพมากกว่า)

ประโยชน์

1. ยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและลาบได้
2. นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับไว้เป็นไม้ประดับรั้วหรือปลูกไว้เป็นซุ้มหน้าบ้านได้อีกด้วย เนื่องจากมีใบที่เขียวสดและมีช่อดอกที่โดดเด่นสวยงาม
3. เปลือกนำมาลอกใช้ทำเป็นเชือก (ไม่ยืนยัน)

คำแนะนำ

1. เป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะในใบย่านางมีฟอสฟอรัส วิตามินเอ และโพแทสเซียมสูง ซึ่งปกติไตจะต้องขับสารเหล่านี้ที่เกินจากความต้องการของร่างกายออกไป เมื่อผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับสารเหล่านี้ทิ้งตามปกติได้ ก็ทำให้เกิดการสะสมจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้นั่นเอง และใบย่านางมีฤทธิ์เย็น จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=oFvPhY7Kyzw

>>> ย่านางแดง <<<


Bauhinia1.png Bauhinia2.png Bauhinia3.png Bauhinia4.png

แหล่งที่มาของภาพ
http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-202272-2.jpg
https://medthai.com/images/2014/02/หญ้านางแดง.jpg
https://www.nanagarden.com/Picture/Product/400/310243.jpg
https://www.baanlaesuan.com/app/uploads/2019/01/Thaokayan.jpg
http://www.dnp.go.th/botany/image/Web_dict/Lysiphyllum_strychnifolium3.jpg