ผักเหลียง

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Baegu.png

วงศ์ : GNETACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gnetum gnemon var. tenerum
ชื่อสามัญ : Baegu
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ผักเหลียง, ผักเหมียง, ผักเขลียง, ผักเปรียง, กะเหรียง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ ลำต้นมีขนาด 10 - 30 มิลลิเมตร สูงประมาณ 2 - 3 เมตร ลำต้น และกิ่งมีลักษณะเป็นข้อๆ ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก และแตกไหลออกด้านข้าง จนแลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียวเข้ม แต่ละกิ่งไม่มีการสลัดทิ้งกิ่ง ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเปราะหักง่าย
ใบ : เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีลักษณะใบคล้ายใบยางพารา ใบแตกออกที่ปลายกิ่งแขนง แตกออกเป็นใบเดี่ยวตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะรี มีก้านใบยาวประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 4 - 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบบาง แต่เหนียว ใบอ่อนมีสีแดงอมส้ม มีรสหวานมัน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อดอกเป็นช่อดอกแบบเชิงลด มีความยาวช่อประมาณ 2 - 5 เซนติเมตร แยกออกเป็นต้นดอกช่อตัวผู้ และต้นดอกสมบูรณ์เพศแยกต้นกัน ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร ช่อดอกมีลักษณะเป็นข้อๆที่มีดอกตัวผู้เรียงล้อมข้อ ตัวดอกมีขนาดเล็ก มีกลีบดอกสีขาว ส่วนต้นดอกสมบูรณ์เพศมีช่อดอกยาวประมาณ 5 - 7 เซนติเมตร ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกต้นตัวผู้ ทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียเรียงล้อมบนข้อเหมือนต้นดอกตัวผู้ ประมาณ 7 - 10 ข้อ ทั้งนี้ ดอกผักเหลียงจะเริ่มออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
ผล : ผลผักเหลียงออกรวมกันบนช่อ แต่ละช่อมีผลประมาณ 10 - 20 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปกระสวย กว้างประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5 - 4 เซนติเมตร เปลือกผลค่อนข้างหนา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีรสหวาน ทั้งนี้ หลังออกดอก ดอกผักเหลียงจะเริ่มติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และผลสุกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และติดเริ่มติดผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 5 - 6 ปี ขึ้นไป แต่การติดดอกออกผลจะไม่แน่นอน บางปีอาจไม่มีการติดดอกออกผล โดยเฉพาะปีที่ฝนตกชุกมาก
การขยายพันธุ์ : การปลูกผักเหลียงจึงนิยมปลูกแบบไม่อาศัยเพศ คือ การปักชำราก การปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง เป็นหลัก มีระยะเวลาการชำหรือการตอนประมาณ 2 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 เดือน จึงจะได้กิ่งพันธุ์พร้อมปลูก

สรรพคุณ

1. เบต้าแคโรทีนเป็นสารสีส้มซึ่งส่วนใหญ่จะพบมากในแครอท ผักเหลียง 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีนสูงถึง 1,089 ไมโครกรัม ซึ่งสูงกว่าผักบุ้งจีนถึง 3 เท่า และสูงกว่าผักบุ้งไทยถึง 5 - 10 เท่า และมากกว่าใบตำลึงอีกด้วย เบต้าแคโรทีนเมื่อย่อยสลายแล้วจะได้เป็นวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยในการมองเห็นทำให้ดวงตามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา ลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก
2. ผักเหลียงมีวิตามินเอสูง ซึ่งจะช่วยบำรุงผิวพรรณและบำรุงสายตาช่วยการมองเห็น เพิ่มความสามารถในการมองเห็นตอนกลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย ตามัว ตาฝ้าฟาง และยังช่วยป้องกันเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ
3. ผักเหลียงจัดเป็น 1 ใน 10 อันดับของผักที่มีแคลเซียมสูง ผักเหลียง 100 กรัม มีแคลเซียม 151 มิลลิกรัม มีสรรพคุณช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อกระดูก บำรุงเส้นเอ็น ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย
4. ใบเหลียงมีวิตามินบี จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทและบำรุงสมองให้ทำงานได้ดี ความจำดีขึ้น และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ อีกทั้งยังช่วยบำรุงกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือด และช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด
5. ใบเหลียง อุดมไปสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายและช่วยให้ระบบการทำงานภายในร่างกายแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น
6. คนใต้นิยมรับประทานเพื่อลดอาหารกระหายน้ำ ลดอาการคอแห้ง แก้ร้อนใน แก้เจ็บคอ ช่วยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แก้อาการขาดน้ำเมื่อต้องเดินทางไกลหรือเข้าป่าเข้าสวน
7. ช่วยแก้โรคซางในเด็กที่ผอมแห้งแรงน้อยร่างกายขาดสารอาหาร ก็จะช่วยให้เด็กเจริญอาหารขึ้น
8. การทานใบเหลียงก็สามารถแก้อาการร้อนในได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีแผลในปากที่เกิดจากการร้อนใน เมื่อทานผักเหลียงเป็นประจำ จะทำให้อาการร้อนในหายเป็นปกติเร็วขึ้น
9. ยางจากลำต้นของใบเหลียง สามารถนำมาใช้รักษาฝ้าได้ โดยนำยางที่ได้มาทาให้ทั่วใบหน้า ทิ้งไว้สักพัก แล้วลอกออก จะช่วยลอกฝ้าให้หลุดออกไป พร้อมกับผลัดเซลล์ผิวเก่า ทำให้ใบหน้าดูขาวกระจ่างใสและเรียบเนียนมากขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์

1. การทานใบเหลียงเป็นประจำจะช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดมีสุขภาพดี ป้องกันการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่มีความจำเป็นต่อร่างกายได้อีกด้วย โดยในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียนิยมรับประทานผักชนิดนี้ เพื่อใช้ในการบำรุงเส้นผม สายตา และบำรุงเส้นเอ็น
2. หลายคนมีอาการภูมิแพ้ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อากาศ แพ้อาหาร หรือแพ้สารบางอย่าง ซึ่งการทานใบเหลียงเป็นประจำ จะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ให้ดีขึ้น โดยลดการกำเริบของโรคภูมิแพ้ให้น้อยลง นอกจากนี้ในคนที่มีอาการไม่รุนแรง ก็อาจรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน
3. เมื่อรู้สึกหิวจัด สามารถนำใบเหลียงสดมาทานแก้หิวได้ โดยจะช่วยลดความหิวให้น้อยลง คนส่วนใหญ่จึงนิยมนำใบเหลียงสดมาทานก่อนมื้ออาหาร เพื่อช่วยลดน้ำหนัก โดยเมื่อทานใบเหลียงแล้วจะทำให้ทานอาหารในมื้อนั้นได้น้อยลงจากปกติ จึงทำให้ลดน้ำหนักได้ดีนั่นเอง

คำแนะนำ

1. เป็นผักประจำถิ่นภาคใต้จึงมีเยอะ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง ชาวบ้านในจังหวัดระนองจึงนำเอาใบผักเหลียงมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบผักเหลียง เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นสินค้า OTOP รสชาติอร่อยดี

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=W11k1E-TdvE

>>> ผักเหลียง <<<


Baegu1.png Baegu2.png Baegu3.png Baegu4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://my.kapook.com/imagescontent/fb_img/460/s_102154_2206.jpg
https://www.nanagarden.com/picture/product/400/276539.jpg
https://static5-th.orstatic.com/userphoto/Article/0/4L/000WPY49C0F921ABDE39BEj.jpg
https://www.bloggang.com/data/plaipanpim/picture/1276490564.jpg
https://www.bansuanporpeang.com/files/images/user4378/DSC01561.JPG