มะกล่ำตาหนู

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Prayer-beads.png

วงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abrus precatorius L.
ชื่อสามัญ : American pea, Buddhist rosary bean, Crab's eye, Crab's eye vine, Indian bead, Jequirity bean, Seminole bead, Prayer beads, Precatory bean, Rosary Pea, lucky bean, Weather plant, Wild licorice
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : กล่ำตาไก่, กล่ำเครือ, มะกล่ำแดง, มะกล่ำเครือ, มะแค้ก, มะแค๊ก, เกมกรอม, มะขามเถา, ไม้ไฟ, กล่ำเครือ, ก่ำเครือ, กล่ำตาไก่, ก่ำตาไก่, ตากล่ำ, มะกล่ําเครือ, หมากกล่ำตาแดง, ชะเอมเทศ, ตากล่ำ, มะกล่ำตาหนู, เกรมกรอม, โทวกำเช่า, เซียงจือจี้, เซียงซือจื่อ, เซียงซัวโต้ว, มะกล่ำดำ, ตาดำตาแดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยมีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นได้ถึง 5 เมตร โดยจัดเป็นไม้เถาเนื้ออ่อนสีเขียวขนาดเล็ก เถามีลักษณะกลมเล็กเรียวและมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ที่โคนเถาช่วงล่างจะแข็งและมีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามบริเวณที่มีความชื้น มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเปิดหรือในที่โล่ง ที่รกร้าง ป่าตามทุ่งนา หรือตามป่าเต็งรัง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกเรียงสลับ ในก้านหนึ่งจะมีใบย่อประมาณ 8 - 20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน มีหนามขนาดเล็กติดอยู่ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 - 8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5 - 20 มิลลิเมตร แผ่นใบเรียบ หลังใบมีขนปกคลุม ส่วนท้องใบมีขนเล็กน้อย และมีหูใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบ ยาวประมาณ 2.5 - 12 เซนติเมตร ก้านช่อดอกใหญ่ นิ่ม และมีขนปกคลุม ยาวได้ประมาณ 9 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวหรือสีม่วงอ่อน เชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมีรอยหยัก 4 รอย เป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวนอกมีขนปกคลุม กลีบดอกด้านล่างจะใหญ่กว่ากลีบดอกด้านบน และจะอัดกันแน่นติดอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีชมพูแกมสีม่วง ดอกมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบกลางเป็นรูปไข่กลับ ส่วนกลีบคู่ด้านข้างเป็นรูปขอบขนาน และกลีบคู่ด้านล่างเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 ก้าน เกสรเพศเมียมีรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มีขน ติดกันเป็นกระจุก มีใบประดับเป็นรูปหอก ใบประดับย่อยเป็นรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม
ผล : ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปกระบอกแกมรูปไข่ โดยจะออกเป็นพวง ๆ ฝักมีลักษณะแบนยาว ปลายฝักแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 - 1.4 เซนติเมตรและยาวได้ประมาณ 2 - 4.5 เซนติเมตร ฝักมีขนสีน้ำตาล เปลือกฝักเหนียว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่แตกได้ตามแนวยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3 - 6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีแดง บริเวณขั้วมีแถบสีดำ ผิวเรียบเงามัน
การขยายพันธุ์ :

สรรพคุณ

1. ใบมีรสหวานใช้ชงกับน้ำดื่มแทนน้ำชา จะช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้ (ใบ) ส่วนเถาและรากก็เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำเช่นกัน (เถาและราก)
2. เถาและรากมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ เป็นยาขับพิษร้อน (เถาและราก)
3. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้อาการเจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ (ใบ) รากแก้เจ็บคอ ไอแห้ง (บ้างว่าใช้แก้เผื่อซางได้ด้วย) ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 10 - 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก) ส่วนเถาและรากแก้หลอดลมอักเสบ (เถาและราก)
4. รากมีรสเปรี้ยวขื่น เป็นยาแก้ไอ แก้หวัด แก้ไอแห้ง เสียงแห้ง กล่องเสียอักเสบ ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอและหวัด (ราก) ส่วนเถาและรากช่วยแก้ไอหวัด ไอแห้ง แก้คออักเสบ คอบวม คอเจ็บ แก้เสียงแห้ง ด้วยการใช้เถาและรากแห้งประมาณ 10 - 15 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา (เถาและราก)
5. ช่วยแก้อาเจียน (เถาและราก)
6. เถาและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หืด (เถาและราก)
7. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยกระตุ้นน้ำลาย (ใบ)
8. ช่วยขับเสมหะ กัดเสมหะ (ราก, เถาและราก)
9. ช่วยแก้สะอึก (ราก)
10. ช่วยหล่อลื่นปอด (เถาและราก)
11. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, เถาและราก, ใบ)
12. ช่วยแก้ตับอักเสบ (เถาและราก, ใบ)
13. ช่วยแก้ดีซ่าน (เถาและราก)
14. เมล็ดมะกล่ําตาหนูมีพิษ ใช้ได้เฉพาะเป็นยาทาภายนอก โดยจะมีรสเผ็ดเมาเบื่อ ให้ใช้เมล็ดแห้งนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมันพืช น้ำ น้ำมันมะพร้าว หรือเกลือ ใช้พอกหรือทาแก้โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง กลากเกลื้อน หิด ฝีมีหนอง ฆ่าพยาธิผิวหนัง และแก้อาการบวมอักเสบได้ (เมล็ด)
15. ใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวม แก้อักเสบ หรือนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมันพืชก่อนนำมาใช้พอก (ใบ)
16. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท (ใบ)

ประโยชน์

1. เมล็ดสามารถนำมาใช้ร้อยเป็นสร้อยสำหรับสวมคอและข้อมือได้
2. ใบใช้ตำพอกเพื่อแก้จุดด่างดำบนใบหน้าได้
3. ในประเทศอินเดียมีการนำสาร Glycyrrhizic มาใช้เป็นสารหวานแทนชะเอม
4. เมล็ดมีพิษใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงได้ ด้วยการใช้เมล็ดมะกล่ำตาหนูนำมาบดให้ละเอียด แช่ในน้ำ 1 ลิตรทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำมากรองเอากากออก แล้วนำน้ำหมักเข้มข้นที่กรองได้มาผสมกับน้ำสะอาดอีก 20 ลิตร แล้วนำไปใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงผักต่อไป ส่วนอีกวิธีให้ใช้เมล็ดบดผง 1 กิโลกรัมผสมกับแอลกอฮอล์ 95% ปริมาณ 5 ลิตร ปิดฝาภาชนะแล้วหมักไว้นาน 24 ชั่วโมง ส่วนอัตราการนำไปใช้ ให้ใช้สารสกัด 1 ลิตรต่อน้ำ 180 ลิตร นำไปฉีดพ่นในนาข้าว จะสามารถป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของสารควรผสมหางไหลและหนอนตายหยากที่บดเป็นผงแล้ว เพื่อทำให้ฤทธิ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชมีมากขึ้น

คำแนะนำ

1. เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีพิษมาก ห้ามนำมาเคี้ยวรับประทานเด็ดขาด หากนำมาเคี้ยวรับประทานเพียง 1 - 2 เมล็ดจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ตับและไตถูกทำลาย ทำให้ชักและเสียชีวิตได้ และควรปฐมพยาบาลโดยการทำให้อาเจียนและรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้ากลืนไปทั้งเมล็ดจะไม่เป็นพิษ เพราะเปลือกแข็งไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร แต่ถ้าขบหรือเคี้ยวเมล็ดให้แตกและรับประทานเพียง 1 - 2 เมล็ดจะเป็นพิษถึงตาย ยิ่งถ้าเป็นเมล็ดอ่อนเปลือกจะยิ่งบางและมีอันตรายมากกว่า
2. เมล็ดในปริมาณเพียง 0.5 มิลลิกรัมก็สามารถทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้ หากได้รับพิษในช่วงแรกจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้วจะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะพบโปรตีนในปัสสาวะ หากได้รับพิษในปริมาณมากจะมีอาการชักจนเสียชีวิต การแก้พิษเบื้องต้นให้ใช้ชะเอม 10 - 20 กรัมและดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทานและรีบนำส่งโรงพยาบาล
3. สารพิษ Abrin นี้เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวได้ง่าย แต่จะคงทนเมื่ออยู่ในทางเดินอาหาร ในขนาดเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือรับประทานเพียง 1 เมล็ดก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ หากสารพิษถูกผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นคัน และหากเข้าตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาจถึงขั้นตาบอดได้

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=LXDm_0r17dw

>>> มะกล่ำตาหนู <<<


Prayer-beads1.png Prayer-beads2.png Prayer-beads3.png Prayer-beads4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/05/มะกล่ําตาหนู.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ต้นมะกล่ำเครือ.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ต้นมะกล่ำตาหนู.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ดอกมะกล่ำตาหนู.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ผลมะกล่ำตาหนู.jpg