ผักหวาน

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Gooseberry.png

วงศ์ : PHYLLANTHACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sauropus androgynus (L.) Merr.
ชื่อสามัญ : Star gooseberry
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ผักหวาน, มะยมป่า, ผักหวานใต้ใบ, ก้านตง, จ๊าผักหวาน, ใต้ใบใหญ่, ผักหลน, นานาเซียม, ตาเชเค๊าะ, โถหลุ่ยกะนีเต๊าะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 0.5 - 3เมตร ลำต้นแข็งแตกกิ่งก้านระนาบไปกับพื้นหรือเกือบปรกดิน ลำต้นอ่อน กลม หรือเป็นเหลี่ยม เปลือกต้นขรุขระเป็นสีน้ำตาล ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้มผิวเรียบ กิ่งเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 - 3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2 - 7 เซนติเมตร ลักษณะของแผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 5 - 7 เส้น โค้งเล็กน้อย เมื่อทำให้แห้งใบจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านใบมีขนาดสั้น ยาวประมาณ 2 - 4 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.7 - 3 มิลลิเมตร
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกเป็นกระจุกตามซอกใบ เรียงไปตามก้านใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียว มีใบปรกอยู่ด้านบน ดอกมีขนาดเล็ก มี 2 ชนิด โดยตอนบนของกิ่งก้านจะเป็นดอกเพศเมีย ส่วนตอนล่างเป็นดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียจะมีประมาณ 1 - 3 ดอกและดอกเพศผู้จะมีจำนวนมาก และดอกเพศผู้จะมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปจานกลมแบน สีน้ำตาลแดง มีขนาดประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 3 ก้าน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก ส่วนดอกเพศเมียรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง โดยมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ซ้อน เรียงเหลื่อมกันเป็นชั้น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ และกลีบเลี้ยงจะเป็นสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 - 1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 - 1.3 เซนติเมตร ผลฉ่ำน้ำ ผิวผลเป็นพูเล็กน้อย ผลเป็นสีเขียวถึงสีขาว เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีขาวอมเหลือง เมื่อแห้งแล้วจะแตกได้ ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดคงทนห้อยลงใต้ใบ ภายในผลแบ่งเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปลือกเมล็ดเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีความหนาและแข็ง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มต่ำที่มีความชื้นพอเหมาะ ดินร่วนชุ่มชื้นและระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง ตามเรือกสวน หรือตามที่รกร้างทั่วไป

สรรพคุณ

1. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากผักหวานเข้าตำรับยารักษาอาการที่เกิดจากธาตุไฟ ได้แก่ โรคขางทุกชนิด (อาการแสดงของธาตุไฟกระทำโทษ) เช่น ขางทำให้มีอาการเสียดด้านข้าง เสียดท้อง ไอ ร้อน ง่วงนอน ขางไฟ ขางแกมสาน ขางรำมะนาดเจ็บในคอ ขางปิเสียบ เป็นอาการจุกเสียดและร้อน ใจสั่น เป็นต้น หรือใช้รักษามะเร็งก้อนเนื้อหรือเนื้องอกที่ผิดปกติ ฝีสาร ซึ่งจะใช้เป็นยาชะล้างฝีที่มีอาการร้อน และยังใช้เข้าตำรับยารักษามะเร็งไฟ มะเร็งคุด สันนิบาตฝีเครือ (ราก)
2. น้ำยางจากต้นและใบนำมาใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ (น้ำยางจากต้นและใบ)
3. ต้นและใบนำมาตำผสมกับรากอบเชยใช้เป็นยาพอก รักษาแผลในจมูก (ต้นและใบ)
4. รากใช้ฝนทารักษาคางทูม (ราก)
5. ตำรับยาหมอพื้นบ้านที่สันป่าตองจะใช้รากเข้าตำรับยาฝนแก้อาการเจ็บในปาก ปากเหม็น (ราก)
6. ช่วยแก้คอพอก (ราก)
7. ใช้เป็นยาทาป้ายแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในเด็กทารก ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบผักหวานบ้านสด นำมาต้มใส่น้ำผึ้งแล้วนำมาทาลิ้นและเหงือกของทารกที่เป็นฝ้าขาว (ใบ)
8. ตำรับยารักษาโรคเลือดลมระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากชะอม รากชุมเห็ดเทศ รากมะกอกเผือก รากมะกอกฟานซ้อม รากมะลืมดำ รากมะลืมแดง รากหญ้าขัด กระดูกหมาดำ แก่นจันทนา แก่นจันทน์แดง งาช้าง นำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้า ใช้กินรักษาโรคเลือดลม และถ้าเป็นมากจนตัวแดงให้นำมาทาด้วย (ราก)
9. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคอีสา (ราก)
10. รากมีรสเย็น น้ำต้มกับรากใช้กินเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ (ราก) ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ (ใบ)
11. หมอยาพื้นบ้านทางภาคเหนือจะใช้รากผักหวานบ้าน รากมะแว้ง รากรากผักดีด แก่นในของฝักข้าวโพดอย่างละเท่ากัน นำมาฝนกับน้ำให้เด็กหรือผู้ใหญ่กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ขัด ไข้อีสุกอีใส (ราก)
12. ช่วยแก้อาการไอ (ราก)
13. ผักหวานบ้านเป็นผักที่มีรสหวานเย็น จึงช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายได้ (ใบ)
14. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มและอาบ ช่วยแก้ซาง พิษซาง (ราก) นอกจากนี้รากยังช่วยระงับพิษ แก้พิษร้อนกระสับกระส่าย แก้น้ำดีพิการ แก้เชื่อมมัว (ส่วนนี้ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้สรรพคุณของรากผักหวานบ้านหรือไม่ เพราะจากหลาย ๆ ข้อมูลระบุว่าสรรพคุณส่วนนี้คือสรรพคุณของผักหวานป่า)
15. ช่วยแก้ผิดสำแดง กินของแสลงที่เป็นพิษ (ราก)
16. รากใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะขัด แก้ขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ (ราก) ส่วนใบแก้อาการปัสสาวะออกน้อย (ใบ)
17. หมอยาแผนโบราณจะใบสดใช้รักษากรณีหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน ด้วยการใช้ใบในขนาด 30 - 40 กรัมต่อวัน นำมาต้มสกัดด้วยน้ำ โดยการกินจะกำหนดโดยหมอที่รักษา (ใบ)
18. ใบใช้เป็นยาประสะน้ำนม ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ใบ)
19. ตำรับยาแก้ผิดเดือน ระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากต้อยตั่ง ต้นมะแว้งต้น รากชะอม และรากนางแย้ม นำมาฝนน้ำผสมกับข้าวเจ้า ใช้ดื่มกินแต่น้ำ (ราก)
20. ตำรับยาของหมอพื้นบ้านที่เชียงดาวจะใช้รากผักหวานบ้าน เข้ายาแก้กินผิดและแก้ลมผิดเดือนโดยใช้เป็นยาฝน ประกอบไปด้วยรากผักหวานบ้าน รากมะนาว รากผักดีด รากยอ รากจำปี และรากทองพันชั่ง (ราก)
21. ดอกใช้เป็นยาขับโลหิต (ดอก)
22. ต้นและใบใช้ตำผสมกับสารหนู ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนังติดเชื้อ (ต้นและใบ)
23. รากและใบนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้แผลฝี (รากและใบ)
24. ใบใช้ปรุงเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ (ใบ)
25. ใบมีสรรพคุณในการแก้บวม แก้หัด ส่วนรากมีสรรพคุณลดอาการบวม (ใบ, ราก)
26. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมูเซอจะใช้ใบ, ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำอาบและเคี้ยวกินแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ใบ, ทั้งต้น)
27. ใช้เป็นยาบำรุงสุขภาพสำหรับสตรีหลังคลอด (ใบ, ทั้งต้น)
28. ผักหวานเป็นสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำนมของแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร (ใบ)
29. ตำรับยารักษามะเร็งที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้ร่วมด้วย ระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากปอบ้าน ต้นคันทรง และหัวถั่วพู นำมาฝนกับน้ำซาวข้าวให้พอข้น ใช้ทารักษามะเร็ง (ราก)
30. รากผักหวานบ้านใช้ผสมกับรากสามสิบ รากถั่วพู รากรางเย็น รากมังคะอุ้ย ดอกหงอนไก่ไทย ไม้มะแฟน หอบกาบและงาช้าง นำมาฝนกับน้ำผสมกับข้าวสุกกินเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (อาการปวดตัวลงข้อ เจ็บศีรษะ เจ็บเอวปวดข้อ) ส่วนอีกตำรับให้ใช้รากหรือต้นผักหวานบ้าน นำมาผสมกับแก่นคูน แก่นขี้เหล็ก แก่นขนุนเทศ งาช้าง ต้นแก้งขี้พระร่วง ต้นขมิ้นเครือ ต้นคนทา ต้นเหมือดคน รากชิงชี่ เมล็ดมะค่าโมง เมล็ดสะบ้าลิง และกาบล้าน นำมาฝนใส่ข้าวเจ้ากินเป็นยาแก้มะเร็งคุด (ต้น, ราก)
31. นอกจากนี้รากผักหวานยังใช้เข้าตำรับยามุตขึด (โรคสตรี) และอาการบวมพอง และยังใช้ในคนไม่อยากอาหาร ใช้เข้ายาแก้พิษ ฝีไข้ เจ็บออกหู ใช้เป็นยาหยอด และเข้ายาแก้ไข้ฝีเครือดำขาวเหลือง (ราก)

ประโยชน์

1. ใบและยอดอ่อนเมื่อนำมาลวก ต้ม หรือนึ่ง กินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ ปลานึ่ง หรือจะนำมาประกอบอาหาร หรือใช้เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหารมีรสหวานตามธรรมชาติ เช่น แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงจืด แกงกับหมู แกงกับปลา แกงเขียวหวาน แกงกะทิสด แกงใส่ไข่มดแดง แกงเห็ด ผัดน้ำมันหอย ยำผักหวาน ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าผักหวาน ฯลฯ หรือนำไปแปรรูปเป็นน้ำปั่นผักหวาน ชาผักหวาน หรือเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ
2. ผักหวานบ้านเป็นผักที่มีวิตามินเอมากเป็นพิเศษ คือ ใน 100 กรัมจะมีวิตามินเออยู่สูงถึง 16,590 หน่วยสากล (บางรายงานระบุว่ามีวิตามินสูงถึง 20,503 หน่วยสากล) (วิตามินเอมีประโยชน์กับสายตามาก) และยังเป็นผักในจำนวนไม่มากนักที่มีวิตามินเค (วิตามินเคมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผลแล้วเลือดออก ทำให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกับวิตามินดีในการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างเซลล์กระดูกและเนื้อเยื่อในไต)
3. คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ (ยอดอ่อนหรือใบอ่อน) ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 39 แคลอรี, น้ำ 87.1%, โปรตีน 0.1 กรัม, ไขมัน 0.6 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 8.3 กรัม, ใยอาหาร 2.1 กรัม, เถ้า 1.8 กรัม, วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 1.65 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 3.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 32 มิลลิกรัม, แคลเซียม 24 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม
4. ผักหวานบ้านเป็นผักที่ช่วยในการขับถ่ายได้ดี ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้จากมลพิษทางอากาศ ช่วยในการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ
5. ต้นผักหวานบ้านมีทรงพุ่มไม่ใหญ่โต ทรงกิ่งและใบดูงดงามคล้ายต้นมะยม มีใบเขียวตลอดปี มีดอกและผลห้อยอยู่ใต้ใบดูแปลกตาและสวยงาม อีกทั้งสีผลยังเป็นสีขาวตัดกับกลีบรองผลซึ่งเป็นสีแดง จึงมีความงดงามและดูเป็นเอกลักษณ์ จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในบริเวณบ้านได้ดี และยังใช้ปลูกเป็นพืชผักสวนครัวก็ได้ เพราะเมื่อเด็ดยอดแล้วก็ยังสามารถแตกยอดได้ใหม่ ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูง ใช้ประกอบอาหารหลากหลายเมนู อีกทั้งพรรณไม้ชนิดนี้ยังเพาะปลูกได้ง่ายและมีความแข็งแรงทนทานอีกด้วย

คำแนะนำ

1. ไม่ควรนำผักหวานบ้านมารับประทานแบบสด ๆ ในจำนวนมาก เนื่องจากผักชนิดนี้มีสาร Papaverine ที่เป็นพิษต่อปอด ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และท้องผูกได้ และยังมีรายงานว่าผู้ที่เป็นโรคเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายชนิด bronchiolitis obliterans (SABO) syndrome นั้น สาเหตุมาจากการรับประทานผักหวานเป็นจำนวนมากเพื่อต้องการลดน้ำหนัก

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=UHgW7Su6_VU

>>> ผักหวาน <<<


Gooseberry1.png Gooseberry2.png Gooseberry3.png Gooseberry4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/04/ผักหวานบ้าน.jpg
http://www.foodnetworksolution.com/uploaded/sauropus1_preview.jpg
https://medthai.com/images/2014/04/ใบผักหวานบ้าน.jpg
https://medthai.com/images/2014/04/ดอกผักหวาน.jpg
https://medthai.com/images/2014/04/ผลผักหวาน.jpg