ถั่วพู
วงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus (L.) DC.
ชื่อสามัญ : Winged bean, Goa bean, Asparagus pea, Four-angled bean, Winged pea
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ถั่วพูใหญ่, ถั่วพูตะขาบ, ถั่วพูจีน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นไม้เลื้อย ไม่มีเนื้อไม้แต่มีอายุหลายปี ลำต้นเลื้อยพัน เป็นพืชที่มีลำต้นสีเขียวและเขียวปนม่วง ส่วนของรากเป็นรากที่สะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีปมซึ่งเป็นที่อยู่ของเชื้อไรโซเบียมจำนวนมาก ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ยกเว้นในดินที่มีน้ำขัง ขึ้นได้ในระดับน้ำทะเลจนถึงระดับความสูงที่ 2,300 เมตร
ใบ : ใบเรียงสลับ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 3 ใบ โคนใบกลมและเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม มีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ และรูปใบหอก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบเป็นแบบช่อกระจะ ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกอยู่ประมาณ 3 - 12 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันลักษณะคล้ายรูประฆัง ปลายเป็น 5 กลีบ กลีบเป็นซี่สั้น ๆ กลีบดอกมีสีระหว่างขาวและสีม่วงแดง สีน้ำเงิน สีแดง ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน แบ่งเป็น 2 มัด มัดหนึ่งมี 9 ก้าน ส่วนอีกมัดมี 1 ก้าน
ผล : ฝักเป็นรูปขอบขนานถึงรูปแถบ มีหน้าตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม และแต่ละมุมของฝักจะมีปีกตามยาว ปีกมีลักษณะเป็นหยักแบบจักคล้ายฟันเลื่อย มีสีเขียว มีรูปร่างเป็นฝักสี่เหลี่ยม มีปีก 4 ปีก เมื่อตัดตามขวางจะแบ่งได้เป็น 4 แบบคือ rectangular, semi flat, flat on sides และ flat on suture ฝักมีความยาวประมาณ 11.2 - 29.9 เซนติเมตร สีของฝักมีทั้งสีเขียว สีม่วง และสีเหลือง ส่วนผิวของฝักจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบผิวเรียบและแบบผิวหยาบมาก ในฝักถั่วพูจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-20 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกึ่งทรงกลม มีตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีครีม สีน้ำตาล สีดำ และแบบที่เป็นลวดลายต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเมล็ดจะมีสีน้ำตาล และยังมีขนาดต่าง ๆ กัน โดยน้ำหนัก 100 เมล็ด อยู่ในช่วง 11 - 4.6 กรัม
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์และเพาะปลูกด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการเพาะกล้า
สรรพคุณ
- 1. ฝักอ่อนถั่วพูช่วยบำรุงร่างกาย (ฝักอ่อน) หรือจะใช้เมล็ดแก่ตากแห้งนำมาบดให้เป็นผง นำมาละลายกับน้ำครั้งละ 5 - 6 กรัม ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 เวลา (เมล็ด) ส่วนหัวก็ช่วยบำรุงร่างกายด้วยเช่นกัน (หัว)
- 2. หัวใต้ดินนำมาเผาหรือนึ่งกินช่วยบำรุงกำลัง หรือจะใช้รากถั่วพูใช้ผสมกับสมุนไพรและน้ำดอกไม้ใช้เป็นยาชูกำลังก็ได้เช่นกัน (หัว, ราก) และอีกตำราบอกว่าให้ใช้เมล็ดแก่นำมาต้มให้สุกแล้วรับประทาน หรือจะนำเมล็ดที่ต้มสุกแล้วมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสุก ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 เวลาก็จะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง เพิ่มกำลังวังชาได้เช่นกัน
- 3. หัวถั่วพู เมื่อนำมาตากแห้งแล้วคั่วให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ ส่วนฝักอ่อนก็ช่วยได้เช่นกัน (หัว, ฝักอ่อน)
- 4. ถั่วพูอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ ซี อี และยังเป็นผักที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและทำให้ร่างกายแข็งแรง (ฝัก)
- 5. หัวมีรสชุ่มเย็น ช่วยทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น (หัว)
- 6. การรับประทานถั่วพูเป็นประจำจะช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี เพราะถั่วพูมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง (ฝัก)
- 7. รากใช้ประกอบสมุนไพรและน้ำดอกไม้ ใช้เป็นยาแก้โรคหัวใจ (ราก)
- 8. หัวถั่วพูช่วยแก้ไข้กาฬ (หัว)
- 9. ช่วยแก้อาการตัวร้อน ลดไข้ในเด็กทารก (ฝักอ่อน)
- 10. ใบถั่วพูช่วยแก้อาการอาเจียน (ใบ)
- 11. หัวช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (หัว)
- 12. ถั่วพูเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยระบบขับถ่ายให้ทำงานอย่างเป็นปกติ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก (ฝัก)
- 13. ช่วยแก้อาการปวดมวนท้อง (ราก)
- 14. ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ฝักอ่อน)
- 15. รากถั่วพูช่วยแก้โรคลมพิษกำเริบ ทำให้คลั่งเพ้อ (ราก)
- 16. รากใช้ปรุงเป็นยาโรคเพื่อวาโยธาตุกำเริบ ใช้รักษาดีพลุ่งพล่าน ให้คลั่งเพ้อ อาการปวดมวนท้อง กระทำให้ตาแดง ซึ่งในตำรับยาประกอบไปด้วย รากถั่วพู, พริกไทย, จันทร์ทั้งสอง, กฤษณาเสมอภาค, น้ำกระทือ, น้ำมะนาว, น้ำอ้อย, และคุลีการละลาย (ราก)
ประโยชน์
- 1. ถั่วพูเป็นยอดอาหารเหนือชั้นที่มีความเหนือกว่าพี่น้องตระกูลถั่วทั้งหลาย มีประโยชน์มาก และยังเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น
- 2. ถั่วพูเป็นพืชที่มีสารขัดขวางต่ำ จึงช่วยทำให้การดูดซึมของแคลเซียมเป็นไปได้ด้วยดี เมื่อรับประทานถั่วพูแล้วร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ถึง 39.1 - 51.9% เลยทีเดียว
- 3. การรับประทานถั่วพูอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง สามารถช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม และยังส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย เพราะพืชตระกูลถั่วที่กินได้ทั้งฝักทั้งหลายจะมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส
- 4. การรับประทานถั่วทั้งชนิดแห้งและสด เช่น ถั่วพู นอกจากจะได้เส้นใยอาหารมากแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย
- 5. ปัจจุบันนิยมปลูกถั่วพูไว้ตามริมรั้วหรือในสวนหลังบ้าน หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้เป็นผักสวนครัว โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ฝักอ่อน รสมัน (ใช้กินเป็นผัก) และหัวใต้ดิน (ใช้กินเป็นอาหารแห้ง)
- 6. คนไทยทั่วไปนิยมใช้ฝักอ่อนเป็นผักสดจิ้มรับประทานกับน้ำพริก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำพริกปลาร้า หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น ผัดกับน้ำมันหอย แกงเผ็ด ลวกราดน้ำกะทิ หรือทำเป็นยำถั่วพู นำมาหั่นเป็นเครื่องเคียงขนมจีน ใช้ผสมในทอดมันเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว ส่วนทางภาคใต้ก็นิยมกินยอดอ่อน ฝักอ่อน และดอกอ่อนเป็นผักสด หรือนำไปต้ม นำไปผัด ใส่แกงส้ม ทำแกงไตปลาก็ได้ ส่วนชาวญี่ปุ่นก็ใช้ฝักอ่อนนำมาทอดเป็นเทมปุระ และในอินเดียและศรีลังกาก็นิยมนำฝักอ่อนมาดองไว้รับประทาน นอกจากนี้ยังใช้ปรุงกับอาหารและเครื่องเทศรสจัดได้ทุกชนิด
- 7. ในบ้านเรามีการบริโภคหัวถั่วพู ด้วยการนำมาต้มกินคล้ายกับหัวมัน โดยหัวใต้ดินของถั่วพูนี้จะมีประมาณของโปรตีนสูงถึงร้อยละ 20 - 30 เลยทีเดียว จึงมีการนำหัวมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับใช้ประกอบอาหาร หรือนำไปเชื่อมเป็นขนมหวาน หรือจะฝานเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำมาทอดกรอบเหมือนมันฝรั่งก็ได้ แถมยังเป็นอาหารขบเคี้ยวที่มีโปรตีนสูงอีกด้วย
- 8. เมล็ดแก่มีน้ำมันอยู่ร้อยละ 16 - 18 สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชสำหรับใช้ปรุงอาหารได้ และยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยในน้ำมันถั่วพูจะมีกรดโอเลอิก 39%, กรดไลโนเลอิก 27%, กรดบีเฮนิก, และกรดพารินาริก ซึ่งไม่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด นอกจากนี้ในน้ำมันถั่วพูยังมีสารโทโคฟีรอลในปริมาณที่สูงมากอีกด้วย โดยเป็นสารที่ทำให้น้ำมันมีรสหวานและอยู่ตัว มีประโยชน์ในเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี
- 9. มีการนำถั่วพูมาใช้ในการรักษาสิวและโรคผิวหนังบางชนิด
- 10. ถั่วพูสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การปลูกเป็นแปลงใหญ่ ๆ แล้วปล่อยให้สัตว์กินแทนหญ้าเลี้ยงสัตว์ทั่วไป โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง และยังได้คุณค่าอาหารมากกว่าหญ้านัก จึงช่วยทำให้สัตว์เลี้ยงเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี แถมยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ในดินเสื่อมโทรม
- 11. ถั่วพูเป็นพืชบำรุงดินได้ดี เพราะปมรากเป็นที่อาศัยของเชื้อไรโซเบียมที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ดังนั้นการปลูกถั่วพูจึงเป็นการเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดินและเมื่อไถกลบต้นถั่วพูหลังการเก็บเกี่ยวไปแล้วยังกลายเป็นปุ๋ยพืชที่ดินต้องการอีกด้วย
คำแนะนำ
- 1. เนื่องจากถั่วพู เป็นพืชที่อุดมไปด้วยโปรตีนสูงจากธรรมชาติ และถึงแม้จะสามารถนำถั่วพูมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนก็ตาม แต่ในทุกส่วนของถั่วพูกลับมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนหรือย่อยได้น้อยลง ดังนั้น จึงไม่ควรกินถั่วพูดิบมากจนเกินไป แต่ควรนำมาต้มให้สุกเสียก่อนก็จะได้ประโยชน์ทางสารอาหารอย่างเต็มที่ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
- 1. เนื่องจากถั่วพู เป็นพืชที่อุดมไปด้วยโปรตีนสูงจากธรรมชาติ และถึงแม้จะสามารถนำถั่วพูมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนก็ตาม แต่ในทุกส่วนของถั่วพูกลับมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนหรือย่อยได้น้อยลง ดังนั้น จึงไม่ควรกินถั่วพูดิบมากจนเกินไป แต่ควรนำมาต้มให้สุกเสียก่อนก็จะได้ประโยชน์ทางสารอาหารอย่างเต็มที่ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
>>> ถั่วพู <<<




แหล่งที่มาของภาพ
http://www.trgreen.co.th/images/column_1369382715/2376197959_886f3e6911.jpg
https://medthai.com/images/2013/10/ต้นถั่วพู.jpg
https://f.ptcdn.info/468/049/000/olvwsvnu2q7B4PfA7RI-o.jpg
https://medthai.com/images/2013/10/ดอกถั่วพู.jpg
https://decor.mthai.com/app/uploads/2019/05/800_thumbnail_wingedbean_05_2019.jpg