ฟักข้าว

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Gac.png

วงศ์ : CUCURBITACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.
ชื่อสามัญ : Gac
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : มะข้าว, ขี้กาเครือ, พุกู้ต๊ะ, ผักข้าว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นไม้เถาเลื้อย อายุยิ่งมากเถายิ่งใหญ่ มีมือเกาะคล้ายกับตำลึง ชอบแสงแดด เลื้อยได้ทั้งบนพื้น บนต้นไม้ บนรั้ว บนหลังคา (ขอให้มีที่เกาะ)
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปไข่ คล้ายกับใบโพธิ์ ความกว้างและความยาวของใบมีขนาดเท่ากัน โดยยาวประมาณ 6 - 15 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก ประมาณ 3 - 5 แฉก
ดอก : จะออกตรงบริเวณข้อต่อระหว่างใบหรือตามซอกใบ โดยจะออกดอกข้อละหนึ่งดอก ลักษณะของดอกฟักข้าวจะคล้ายกับดอกตำลึง กลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง หรือขาวแกมเหลือง ส่วนก้านเกสรและกลีบละอองจะมีสีม่วงแกมดำหรือสีม่วงแกมน้ำตาล ใบเลี้ยงประดับมีขน โดยดอกฟักข้าวจะเป็นดอกแบบไม่สมบูรณ์เพศ แยกเป็นดอกเพศเมียและดอกเพศผู้จะอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็ก ปลายใบมน ส่วนดอกเพศผู้ปลายใบแหลม ดอกฟักข้าวมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ
ผล : มีลักษณะคล้ายรูปไข่กลมรี ที่เปลือกมีหนามเล็ก ๆ อยู่รอบผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวอมเหลือง แต่เมื่อสุกแล้วผลจะมีสีแดงหรือสีส้มอมแดง ผลสุกเนื้อจะเป็นสีเหลือง มีเยื่อกลางหุ้มเมล็ดเป็นสีแดง
การขยายพันธุ์ : สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือแยกรากปลูก ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เนืองจากเป็นไม้เถาที่ค่อนข้างต้องการน้ำมาก ฟักข้าวจะเริ่มมีดอกหลังจากปลูกไปได้แล้วประมาณ 2 - 3เดือน ดอกจะเริ่มออกในราวเดือนพฤษภาคมและให้ดอกจนถึงราวเดือนสิงหาคม ผลสุกใช้เวลาโดยประมาณ 20 วัน เก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงเดือน กรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และใน 1 ฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวสามารถได้ผลมากถึง 30 - 60 ผล ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมากเรียงตัวอยู่คล้ายเมล็ดแตง ด้านในเมล็ดมีเนื้อสีขาว (เมล็ดดิบมีพิษ ต้องคั่วหรือต้มให้สุกก่อนนำมาใช้)

สรรพคุณ

1. ผลอ่อนและใบอ่อนช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ (ผลอ่อน, ยอดฟักข้าว)
2. ช่วยบำรุงปอด ช่วยแก้ฝีในปอด (เมล็ด)
3. ใบฟักข้าวมีรสขมเย็น มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ตัวร้อนได้ (ใบ)
4. รากช่วยถอนพิษไข้ (ราก)
5. ช่วยขับเสมหะ (ราก)
6. ช่วยแก้ท่อน้ำดีอุดตัน (เมล็ด)
7. ช่วยขับปัสสาวะ (เมล็ด)
8. ใบช่วยแก้ริดสีดวง (ใบ)
9. ใบนำมาตำใช้พอกแก้อาการปวดหลังได้ (ใบ)
10. ช่วยแก้กระดูกเดาะ (ใบ)
11. ช่วยแก้ข้อเข่า อาการปวดตามข้อ (ราก)
12. เมล็ดแก่นำมาบดให้แห้ง ผสมน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย นำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ อาการบวม จะช่วยรักษาอาการได้ และยังช่วยรักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ผดผื่นคันต่าง ๆ อาการฟกช้ำได้อีกด้วย (เมล็ดแก่)
13. รากใช้ต้มดื่มช่วยถอนพิษทั้งปวง (ราก)
14. ใบช่วยถอนพิษอักเสบ (ใบ)
15. ช่วยแก้พิษ แก้ฝี (ใบ)
16. ช่วยแก้ฝีมะม่วง (ใบ)
17. ฟักข้าว สรรพคุณใบช่วยแก้หูด (ใบ)
18. เมล็ดฟักข้าว สามารถนำมาใช้แทนเมล็ดแสลงใจได้ (โกฐกะกลิ้ง)

ประโยชน์

1. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
2. ช่วยในการชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ปัญหาผิวแห้งกร้าน ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด
3. ฟักข้าวมีเบตาแคโรทีนสูงกว่าแครอท 10 เท่า และมีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศ 12 เท่า
4. ประโยชน์ของฟักข้าวช่วยบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา โรคต้อกระจก ประสาทตาเสื่อม ตาบอดตอนกลางคืน (เยื่อเมล็ด)
5. ช่วยป้องกันโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด
6. ช่วยป้องกันและช่วยยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด
7. ช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
8. งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ฟักข้าวมีโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอดส์ (HIV) และยังช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย ซึ่งได้ทำการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
9. ประโยชน์ของฟักข้าวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ฟักข้าวมีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็ง ไวรัส ช่วยยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน
10. ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารและมะเร็งปอด
11. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮานอยพบว่า น้ำมันจากเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับ
12. ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
13. ช่วยในการขับเสมหะ ใช้กลั้วคอช่วยลดอาการเจ็บคอหรืออาการอักเสบที่ลำคอ
14. ฟักข้าวเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นหรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคประจำตัวหรือร่างกายอ่อนแอ
15. รากฟักข้าวใช้แช่น้ำสระผม ช่วยทำให้ผมดกดำขึ้น แก้ปัญหาผมร่วง แก้อาการคันหนังศีรษะ รังแค และช่วยฆ่าเหาได้อีกด้วย (ราก)
16. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้ทำการศึกษาร่วมกันในเรื่องของการนำน้ำมันเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางสูตรลดเลือนริ้วรอย ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนได้รับรางวัล "IFSCC Host Society Award 2011" จากงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ
17. ผลอ่อนฟักข้าวใช้ทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นนำไปต้มหรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปใส่แกงต่าง ๆ เช่น แกงส้มลูกฟักข้าว เป็นต้น
18. ยอดฟักข้าวอ่อนใช้ทำเป็นอาหารก็อร่อย (กลิ่นจะคล้าย ๆ กับยอดหรือใบมะระ) เมนูฟักข้าว เช่น แกงเลียง แกงส้ม ผัดไฟแดง คั่วแค ใช้ลวกหรือต้มกินกับน้ำพริก ฯลฯ
19. ฟักข้าวสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น น้ำฟักข้าว ฟักข้าวแคปซูล เป็นต้น

คำแนะนำ

1. ผู้ที่แพ้ง่าย ควรเลี่ยงรับประทาน หากคุณเป็นคนที่มีอาการแพ้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานฟักข้าว เนื่องจากฟักข้าวมีสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ยาง หรือแม้กระทั่งเกสร ก็อาจส่งผลทำให้อาการแพ้กำเริบได้
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดฟักข้าวแบบดิบ เพราะหากรับประทานเข้าไป เมล็ดจะส่งผลกระตุ้นต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ยกเว้นแต่ทำให้สุกแล้วจึงสามารถรับประทานได้
3. อาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่รอการศึกษาเกี่ยวกับฟักข้าวที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดในร่างกายหากรับประทานมากจนเกินไป ดังนั้น การรับประทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไปนับว่ากำลังเหมาะสมต่อร่างกายที่สุด

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=5rcyrHdBWQc

>>> ฟักข้าว <<<


Gac1.png Gac2.png Gac3.png Gac4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2013/08/ฟักข้าว.jpg
https://medthai.com/images/2013/08/ต้นฟักข้าว.jpg
https://ibcshop.net/wp-content/uploads/2016/07/Momordica6.jpg
https://medthai.com/images/2013/08/ดอกฟักข้าว.jpg
https://health.mthai.com/app/uploads/2019/03/Baby-jackfruit.jpg