โสน

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Sesbania.png

วงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesbania javanica Miq.
ชื่อสามัญ : Sesbania, Sesbanea pea, Sesbania flowers
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ผักฮองแฮง, โสนกินดอก, โสนหิน, โสนดอกเหลือง, สี่ปรีหลา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุ 1 ปี มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1 - 4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ เป็นเหลี่ยมหรือมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้อ่อนและกลวง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับบนลำต้น แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 10 - 30 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างยาวประมาณ 2 - 4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1.2 - 2.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ที่โคนก้านใบมีหนามแหลมยาว 2 อัน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหรือเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกย่อยประมาณ 5 - 12 ดอกต่อช่อ ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ บางครั้งกลีบด้านนอกมีจุดกระสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดงกระจายทั่วไป กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว โคนกลีบเชื่อมติดกัน ดอกโสนจะออกดอกมากในช่วงปลายฤดูฝนประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
ผล : มีลักษณะเป็นฝักกลมยาวขนาดเล็ก ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล พอฝักแก่จะแตกออกเองตามขวางของฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 18 - 20 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดเรียงอยู่ภายใน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นมันเงาสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 0.05 เซนติเมตร เมื่อต้นโสนออกดอกและติดเมล็ดแล้วต้นโสนจะค่อย ๆ แห้งเหี่ยวและตายไปในที่สุด
การขยายพันธุ์ : ด้วยการปลูกเมล็ด เพราะโสนเป็นพืชปีเดียว และมีลำต้น และกิ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนจึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นยาก ทั้งนี้ การปลูกที่ได้ผล ควรเริ่มปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝน

สรรพคุณ

1. ดอกโสนมีรสจืด มัน เย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ (ดอก)
2. รากโสนมีรสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
3. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาสมานลำไส้ (ดอก)
4. ใช้แก้อาการปวดมวนท้อง (ดอก)
5. ต้นโสนมีรสจืด แพทย์แผนโบราณจะนำต้นมาเผาให้เกรียม แล้วนำมาแช่น้ำให้เป็นด่าง ใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)
6. ใบใช้ตำเป็นยาพอกแผล ส่วนดอกก็สามารถนำมาปรุงเป็นยาพอกแผลได้เช่นกัน (ใบ)
7. ใบโสนมีรสจืดเย็น นำมาตำผสมกับดินประสิวและดินสอพอง ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดฝี ช่วยถอนพิษ (ใบ)
8. ดอกใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ดอก)

ประโยชน์

1. ดอกโสนมีรสออกหวานเล็กน้อย นิยมใช้รับประทานเป็นผักหรือนำมาใช้ประกอบหรือทำอาหารคาวหวานรับประทาน เมนูดอกโสน ที่นิยมกันมาก ได้แก่ ดอกโสนผัด ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ดอกโสนผัดไข่ ไข่เจียวดอกโสน ดอกโสนลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิกินกับปลาทู ดอกโสนจิ้มน้ำพริกมะนาว ดอกโสนชุบแป้งทอดกรอบกินกับขนมจีนน้ำพริก ยำดอกโสน ดอกโสนดองน้ำเกลือ แกงส้มดอกโสนกับปลาช่อน ดอกโสนแกงใส่ไข่มดแดง หรือแกงเผ็ดอะไรก็ได้ใส่ดอกโสน แต่ถ้าใช้ประกอบอาหารหวานก็จะมีข้าวเหนียวมูนดอกโสน ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย เป็นต้น
2. ในทางโภชนาการพบว่า ดอกโสนจะอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและสมอง มีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิต มีวิตามินเอที่ช่วยต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 และวิตามินซี อีกพอสมควร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก โดยคุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 38 กิโลแคลอรี, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.9 กรัม, โปรตีน 2.5 กรัม, ใยอาหาร 2.2 กรัม, ความชื้น 87.7 กรัม, วิตามินเอ 3,338 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.13 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.26 มิลลิกรัม, วิตามินซี 51 มิลลิกรัม แคลเซียม 62 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.1 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม
3. จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า ดอกโสนมีสารเควอเซทิน ไกลโคไซด์ (Quercetin 3 - 2 (G)-rhamnosylrutinoside) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ โดยมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง จากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารชนิดนี้พบว่า เควอเซทินมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายด้วยกระบวนการอะพ็อปโทซิส (apoptosis) ช่วยหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยระงับการอักเสบ และช่วยป้องกันอันตรายของเซลล์ปกติต่อความเครียดจากกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ
4. นอกจากนี้ยังนำมาใช้แต่งสีอาหารได้อีกด้วย โดยจะให้สีเหลือง ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์ (caiotenoid) โดยวิธีการเตรียมสีเหลืองจากดอกโสน ก็ให้นำดอกโสนสดที่ล้างสะอาดแล้วมาบดหรือโม่ผสมกับแป้งที่จะใช้ทำขนม จะทำให้ได้แป้งสีเหลืองที่มีกลิ่นหอม แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปใช้ทำขนมต่าง ๆ
5. เนื้อไม้ของต้นโสนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง โดยไม้โสนจะใช้ทำเป็นของเล่นเด็กมาตั้งแต่โบราณ ส่วนเยื่อไม้ที่มีลักษณะเบา บาง และเหนียว ก็นำมาประดิษฐ์ทำเป็นดอกไม้ได้อย่างประณีตและงดงาม (ดอกไม้ประดิษฐ์จากต้นโสน หรือ ดอกไม้จากต้นโสน) การใช้ไม้โสนมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้นั้นมีสืบทอดมาตั้งแต่อดีตแล้ว และในปัจจุบันชาวอยุธยาจะใช้เนื้อไม้จากต้นโสน (ชนิดลำต้นใหญ่ คนละชนิดกับโสนกินดอก) มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ดอกกุหลาบ ดอกจำปา ดอกมะลิ ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
6. ไม้โสนยังสามารถนำมาใช้เป็นทุ่นหรือเชื้อติดไฟได้ดี
7. ในปัจจุบันได้มีการนำใบและดอกโสนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ ชาดอกโสน และชาจากยอดใบโสน เนื่องจากดอกโสนมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เมื่อนำมาทำชา ก็ได้ชาที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ให้รสชาติอ่อนนุ่ม โดยสามารถทำเองได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง หรือนำไปพัฒนาและผลิตเป็นสินค้าประจำท้องถิ่นก็ได้ โดยชาดอกโสน สามารทำได้โดยการนำดอกโสนไปอบที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วนำมาบรรจุซองในปริมาณ 3 กรัมต่อซอง (ถ้าบดละเอียดจะใช้ 2 กรัมต่อซอง) ส่วนยอดใบโสนนั้นพบว่ามีวิตามินเอสูง ชาที่ได้จะมีกลิ่นหอมเข้มกว่าชาดอกโสน วิธีการทำก็คือให้นำใบมาคั่วไฟกลางครั้งละ 50 กรัม ประมาณ 20 นาที แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง บรรจุในซองขนาด 3 กรัมต่อซอง

คำแนะนำ

1. ดอกและยอดอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสดหรือลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้ม ผัดน้ำมัน หรือใช้ทำเป็นขนม ที่เรียกว่า ขนมดอกโสน

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=3qnAMTh0yqA

>>> โสน <<<


Sesbania1.png Sesbania2.png Sesbania3.png Sesbania4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://puechkaset.com/wp-content/uploads/2016/09/ดอกโสน.jpg
https://medthai.com/images/2014/10/ต้นโสน.jpg
https://medthai.com/images/2014/10/ใบโสน.jpg
https://puechkaset.com/wp-content/uploads/2016/09/โสน1.jpg
http://www.bansuanporpeang.com/files/images/user1235/7_104.JPG