กระทกรก

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Fetid.png

วงศ์ : PASSIFLORACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida L.
ชื่อสามัญ : Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking passion flower
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ผักขี้หิด, รุ้งนก, เงาะป่า, เถาเงาะ เถาสิงโต, ยันฮ้าง, เยี่ยววัว, ผักบ่วง, หญ้าถลกบาต, เครือขนตาช้าง, ตำลึงฝรั่ง ตำลึงทอง ผักขี้ริ้ว ห่อทอง, รกช้าง, หญ้ารกช้าง, ผักแคบฝรั่ง, รก , กระโปรงทอง, ละพุบาบี, ผักแคบฝรั่ง, มั้งเปล้า, หล่อคุ่ยเหมาะ, เล่งจูก้วย เล้งทุงจู, รังนก, กะทกรกป่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุประมาณ 2 - 5 ปี มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน และทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว
ใบ : มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัว ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก แผ่นใบมีขนสีน้ำตาลขนาดเล็กขึ้นทั้งสองด้าน และที่ขนมีน้ำยางเหนียว
ดอก : ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกมีกลีบดอก 10 กลีบ กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบด้านในเป็นสีขาว มีกระบังรอบเป็นเส้นฝอยมีสีขาวโคนม่วง ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกเป็นเส้นฝอย ดอกมีก้านชูเกสรร่วม แยกเป็นเกสรตัวผู้ประมาณ 5 - 8 ก้าน ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีประมาณ 3 - 4 ก้าน รังไข่เกลี้ยง
ผล : ผลกะทกรก หรือ ลูกกะทกรก ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีส้ม และมีใบประดับเส้นฝอยคลุมอยู่ ภายในผลมีเนื้อหุ้มเมล็ดใสและฉ่ำน้ำ (คล้ายกับเมล็ดแมงลักแช่น้ำ) มีรสหวานแบบปะแล่ม ๆและจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
สรรพคุณ

1. เปลือกใช้เป็นยาชูกำลัง (เปลือก)
2. เนื้อไม้ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้) ส่วนเถาใช้เป็นยาธาตุ (เถา)
3. รากสดหรือรากตากแห้งใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา จะช่วยทำให้สดชื่น (ราก)
4. ผลดิบมีรสเมาเบื่อ ส่วนผลสุกมีรสหวานเย็น ช่วยบำรุงปอด (ผล)
5. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)
6. ช่วยถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด (เนื้อไม้)
7. ช่วยแก้ความดันโลหิตสูง (ราก)
8. แพทย์ชาวเวียดนามใช้ใบเป็นสงบระงับ ระงับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม (ต่อวัน) นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ)
9. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบนำมาตำใช้พอกหรือประคบที่ศีรษะ (ใบ)
10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น (ราก)
11. ใบใช้ตำพอกศีรษะ ช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูก (ใบ)
12. ช่วยแก้อาการไอ (ใบ, ดอก, ต้น, ทั้งต้น)
13. ช่วยขับเสมหะ (ใบ, ต้น, ทั้งต้น)
14. เมล็ดใช้แก้เด็กที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำส้มและรมควันให้อุ่น แล้วเอาไปทาท้องเด็ก (เมล็ด)
15. ใบนำมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาเบื่อและยาขับพยาธิ (ใบ)
16. ดอก ใบ และทั้งต้นมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ, ดอก, ต้น, ทั้งต้น)
17. เถาและรากสดใช้ต้มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น (ราก)
18. ช่วยแก้กามโรค (ราก)
19. ช่วยรักษาบาดแผล (เนื้อไม้, ใบ, ผล) และเถาใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (เถา)
20. ใบใช้ตำพอกฆ่าเชื้อบาดแผล (ใบ)
21. เปลือกใช้ตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก (เปลือก)
22. เปลือกช่วยทำให้แผลเน่าเปื่อยแห้ง (เปลือก)
23. ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพอสมควร นำมาทาวันละ 3 - 4 ครั้ง เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการคัน แก้หิด แก้หืด (ใบ)
24. ช่วยแก้อาการปวด (ผล)
25. ช่วยแก้อาการบวม (ใบ, ต้น, ทั้งต้น), แก้อาการบวมที่ไม่รู้สาเหตุ (ทั้งต้น)
26. ช่วยแก้อาการเหน็บชา โดยนำมาสับตากแดด แล้วนำมาต้มกิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
27. ใบนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้พอกรักษาสิว (ใบ)

ประโยชน์

1. ยอดอ่อน ผลอ่อน ผลสุก ผลแก่ รวมทั้งรกหุ้ม สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำมาต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก และแกงเลียง, ผลสามารถนำมาปั่นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้
2. ในด้านทางการเกษตร เนื่องจากต้นกะทกรกมีสารพิษชื่อว่า Cyanpgenetic glycosides ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยาฆ่าและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปยับยั้งการเกิดเป็นตัว
3. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมักได้ เนื่องจากต้นกะทกรกมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาทำลายได้

คำแนะนำ

1. ทั้งต้นสดมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษจะสลายไปเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำไปต้มให้สุกก่อนนำมาใช้
2. ผลอ่อนมีพิษ เนื่องจากมีสารไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ (Cyanogenetic glucoside) เปลือกผล เมล็ด และใบมีสารที่ไม่คงตัว เมื่อสารดังกล่าวสลายตัวจะทำให้ Acetone และ Hydrocyanic acid (สารชนิดหลังเป็นพิษ) ทำให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการอาเจียน

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=2G0nHSCcmcc&t=38s

>>> กระทกรก <<<


Fetid1.png Fetid2.png Fetid3.png Fetid4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/01/กระทกรก1.jpg
https://medthai.com/images/2014/01/กะทกรกป่า.jpg
https://medthai.com/images/2014/01/ใบกะทกรก.jpg
https://medthai.com/images/2014/01/ดอกกะทกรก.jpg
https://medthai.com/images/2014/01/ผลกะทกรกป่า.jpg