อบเชย

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Cassia.png

วงศ์ : LAURACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum spp.
ชื่อสามัญ : Cinnamon, Cassia
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : บอกคอก, พญาปราบ, สะวง, กระดังงา, ฝักดาบ, สุรามิด, กระแจกโมง, โมงหอม, กระเจียด, เจียดกระทังหัน, อบเชยต้น, มหาปราบ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15 - 20 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ ทึบ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 - 7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5 - 25 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เกลี้ยง แข็ง และกรอบ เส้นใบออกจากโคนมี 3 เส้น ยาวตลอดจนถึงปลายใบ ด้านล่างเป็นคราบขาว ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10 - 25 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นเหม็น ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน ผลอบเชยไทย
ผล : มีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแข็ง ตามผิวผลมีคราบขาว แต่ละมีเมล็ดเดียว ฐานรองรับผลมีลักษณะเป็นรูปถ้วย
การขยายพันธุ์ : ใช้การเพาะเมล็ด โดยให้นำเมล็ดมาเพาะโดยเร็วใน 2 - 3 วัน เพราะเมล็ดจะสูญเสียความงอกอย่างรวดเร็ว เมล็ดที่มีความงอกดีจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 20 - 30 วัน ควรเพาะในแปลงที่มีแสงรำไร ฝังเมล็ดลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร เมื่อกล้ามีอายุ 4 - 5 เดือน สูงประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ย้ายลงถุงและเลี้ยงไว้อีกประมาณ 4 - 5 เดือน จึงย้ายลงแปลงเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม การปลูกแบบการค้าควรใช้อบเชยที่ตลาดต้องการและมีคุณภาพดี เช่น พันธุ์ศรีลังกา

สรรพคุณ

1. เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีรสเผ็ด หวานชุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
2. เปลือกต้นใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)
3. ช่วยบำรุงดวงจิต บำรุงธาตุ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น) ส่วนใบอบเชยต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง (ใบอบเชยไทย)
4. รากอบเชยเทศ มีสรรพคุณช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน ส่วนเปลือกต้นอบเชยเทศมีสรรพคุณปลุกธาตุอันดับให้เจริญ (เปลือกต้นอบเชยเทศ,รากอบเชยเทศ)
5. อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงธาตุไฟในระบบไต ตับ ม้าม และหัวใจ (เปลือกต้นอบเชยจีน)
6. อบเชยสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ด้วยการใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไปที่เป็นแท่งนำมาบด โดยให้ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เปลือกต้น)
7. ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์รับประทานแก้เบื่ออาหาร (เปลือกต้น) เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ และช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้นอบเชยไทย)
8. อบเชยมีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการสันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น อบเชยสามารถลดการดื้ออินซูลินทำให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด สมุนไพรอบเชยจึงเหมาะสมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ให้ใช้อบเชยวันละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 1,200 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งการรับประทานออกเป็น 4 มื้อ ซึ่งจะได้ผงอบเชยในปริมาณ 300 มิลลิกรัม หรือมีขนาดเท่ากับแคปซูลเบอร์ 1 แต่สำหรับผู้ไม่เป็นเบาหวานสามารถกินได้วันละ 500 - 600 มิลลิกรัม หรือประมาณวันละ 2 แคปซูล (เปลือกของกิ่ง)
9. ช่วยย่อยสลายไขมัน ควบคุมระดับไขมันในเลือด และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้มีระดับต่ำลง (เปลือกต้น)
10. ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมสารคลีเซอไรซินเข้มข้น (เปลือกต้น)
11. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้สันนิบาต แก้อาการหวัด แก้อาการไอ (เปลือกต้น) เมล็ดนำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้ง ให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ดอบเชยไทย)
12. รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ (รากและใบอบเชยไทย)
13. ช่วยแก้ไอเย็น หืดหอบเนื่องมาจากลมเย็นกระทบ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
14. ตำรับยาแก้อาการไอหอบหืด ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3 - 5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
15. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน (เปลือกต้น) ส่วนใบสามารถนำมาปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนได้เช่นกัน (ใบอบเชยไทย)
16. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)
17. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (รากอบเชยไทย)
18. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาน้ำ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับผายลม อาหารไม่ย่อย (เปลือกต้น) ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้จุกเสียดแน่นท้องและลงท้อง (ใบอบเชยต้น)
19. ช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้ท้องเสีย แก้ท้องเสียในเด็ก แก้บิด ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ลำไส้อักเสบ (เปลือกต้น) เมล็ดอบเชยไทย นำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้งให้เด็กกินเป็นยาแก้บิด (เมล็ดอบเชยไทย)
20. เปลือกต้นใช้แทน Cinnamon เคี้ยวกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้นอบเชยไทย)
21. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (เปลือกต้น)
22. แก้โรคกระเพาะ ปวดกระเพาะหรือถ่าย เนื่องจากลมเย็นชื้นหรือลมเย็นที่ทำให้มีอาการปวดและท้องเสีย ให้ใช้อบเชยจีน 2 - 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
23. ยาชงจากเปลือกต้น ใช้กินเป็นยาถ่าย (เปลือกต้นอบเชยไทย)
24. ช่วยขับพยาธิ (เปลือกต้น)
25. ช่วยขับปัสสาวะ (เปลือกต้น)
26. ช่วยแก้ไตหย่อน ปัสสาวะไม่รู้ตัว หรือปัสสาวะบ่อย ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3 - 5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
27. เปลือกนำมาต้มหรือทำเป็นผง ใช้แก้โรคหนองในและแก้โทษน้ำคาวปลา (เปลือกต้นอบเชยไทย)
28. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรักษาแผลกามโรค (เปลือกต้น)
29. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (เปลือกต้น)
30. รากนำมาต้มให้สตรีกินหลังการคลอดบุตร และลดไข้หลังการผ่าตัด (รากอบเชยไทย)
31. น้ำต้มเปลือกต้นใช้ดื่มเป็นยาแก้ตับอักเสบ (เปลือกต้น)
32. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)
33. ใบอบเชยเทศมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อ (ใบอบเชยเทศ)
34. น้ำมันอบเชยเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา แต่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง (เข้าใจว่าคือน้ำมันจากเปลือกต้น)
35. น้ำยางจากใบใช้เป็นยาทาแผลถอนพิษของยางน่อง (ใบอบเชยไทย)
36. ใบใช้ตำเป็นยาพอกแก้อาการปวดรูมาติสซั่ม (ใบอบเชยไทย)
37. ช่วยแก้อาการปวด แก้ปวดหลัง ปวดเอวเนื่องจากไตหย่อน ไม่มีกำลัง แก้ปวดตามข้อ ปวดตามบ่าหรือไหล่ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
38. คนเมืองจะใช้รากอบเชยไทย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (รากอบเชยไทย)
39. ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ (เปลือกต้น)
40. รากมีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (รากอบเชยเทศ)
41. อบเชยจัดอยู่ในพิกัดยาไทยร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ หลายตำรับ ได้แก่ พิกัดตรีธาตุ (เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้ไข้ แก้เสมหะ), พิกัดตรีทิพย์รส (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ), พิกัดจตุวาตะผล (เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้พรรดึก ขับผายลม แก้ลมกองริดสีดวง แก้ตรีสมุฏฐาน), พิกัดทศกุลาผล (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้เสมหะ บำรุงปอด ขับลมในลำไส้ แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็นต้น

ประโยชน์

1. เปลือกต้นใช้เป็นเครื่องเทศ ยาขับลม แต่งกลิ่น บดให้เป็นผงใช้เป็นเครื่องเทศใส่อาหาร ใส่ในเครื่องสำอาง น้ำมันจากเปลือกไม้ต้นใช้แต่งกลิ่นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ลูกวาด ขนมหวาน เหล้า รวมไปถึงเภสัชภัณฑ์ สบู่ ยาเตรียมที่ใช้สำหรับช่องปาก ใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาขับลม ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคและกันบูด เป็นต้น ส่วนเปลือกอบเชยชวามักนำมาใช้ผสมเครื่องแกงมัสมั่น และแต่งกลิ่นข้าวหมกไก่
2. เปลือกต้นอบเชยเมื่อนำมาย่างไฟจะมีกลิ่นหอม นิยมนำมาใส่ในแกงมัสมั่นและอาการประเภทต้มหรือตุ๋นเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เพื่อลดความคาว หรือจะลองหาผงอบเชยมาเหยาะลงในอาหารหรือเครื่องดื่มก็ได้ อย่างเช่น ชา กาแฟ น้ำผลไม้ แซนด์วิช ก็ได้ แล้วแต่จะดัดแปลงสูตร
3. ใบอบเชยเทศมีน้ำมัน ใช้สำหรับแต่งกลิ่น แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นสบู่ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตน้ำหอม ใช้เป็นแหลงของสารยูจีนอลเพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นสารวานิลลิน ใช้เป็นส่วนผสมในยาทาถูนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดตามข้อ
4. ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้เปลือกต้นอบเชยไทยนำมาตากให้แห้งแล้วนำไปเคี้ยวกินกับหมาก
5. ชาวม้งจะใช้เปลือกไม้ของอบเชยไทย นำไปตากแห้งแล้วตำให้เป็นผง นำไปทำธูป มีกลิ่นหอม
6. เนื้อไม้อบเชยไทยมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร เนื้อไม้หยาบและค่อนข้างเหนียว สามารถนำมาใช้ในการแกะสลักทำหีบใส่ของเพื่อป้องกันแมลง ทำเครื่องเรือน หรือทำไม้บุผนังที่สวยงามได้
7. สำหรับเรื่องสิว อบเชยก็สามารถช่วยได้เช่นกัน ด้วยการใช้ผงอบเชย 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำผึ้ง 3 ช้อนชา แล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นนำมาป้ายลงบนหัวสิวก่อนเข้านอน แล้วค่อยล้างออกในตอนเช้าด้วยน้ำอุ่น โดยให้ทำติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สิวจะค่อย ๆ หมดไป

คำแนะนำ

1. ผู้ที่เป็นไข้ตัวร้อน ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด อุจจาระแข็งแห้ง เป็นโรคริดสีดวงทวาร เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานอบเชย และห้ามกินน้ำมันอบเชน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและเป็นอันตรายต่อไตได้
2. อบเชยจีนเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมาก ๆ หรือไม่ได้รับประทานตามคำแนะนำในฉลาดหรือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นโรคตับ เนื่องจากอบเชยจีนมีสารคูมารินซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ และการได้รับสารนี้ในในระยะยาวก็อาจมีปัญหาต่อตับได้

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=Z-XFFs5zcY8&t=55s

>>> อบเชย <<<


Cassia1.png Cassia2.png Cassia3.png Cassia4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://www.xn--42cg8cuanoj5b9czdzg.com/images/content/original-1535423984112.png
https://www.nanagarden.com/Picture/Product/400/127987.jpg
https://f.ptcdn.info/129/051/000/opvu7n6qt1SrEHo2nm4-o.jpg
https://medthai.com/images/2014/07/ดอกอบเชยไทย.jpg
https://medthai.com/images/2014/07/ผลอบเชยเทศ.jpg