มะระ

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Balsam-pear.png

วงศ์ : CUCURBITACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia L.
ชื่อสามัญ : Balsam Pear, Bitter Cucumber, Leprosy Gourd, Bitter Gourd
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ผักไฮ, ผักไซ่, ผักไห่, มะร้อยรู, มะไห่, สุพะซู, สุพะเด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้เถา มีมือเกา
ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ กว้างยาวประมาณ 4 - 7 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นซี่ห่างๆ ใบเว้าเป็นแฉกลึก 5 - 7 แฉก ใบและลำต้นมีขนสากอยู่ทั่วไป
ดอก : สีเหลือง ออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน รูปแตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก เมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 เซนติเมตร
ผล : มะระมี 2 ชนิด คือ มะระไทยหรือมะระขี้นก และมะระจีน ซึ่งต่างกันที่ลักษณะและขนาดของผล ผลมะระขี้นก มีขนาดเล็กกว่า ยาว 3 - 5 เซนติเมตร ผลรูปกระสวย ผิวขรุขระ สีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีเหลือง ส่วนมะระจีนมีขนาดใหญ่กว่า เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 - 5 เซนติเมตร ยาว 12 - 30 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก สีเขียวอ่อน ผิวขรุขระ ผลมะระทั้งสองชนิดมีรสขม
การขยายพันธุ์ : นำเมล็ดมาแช่น้ำ ประมาณ 1 คืน แล้วนำมาห่อกับผ้าชื้นประมาณ 2 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากโผล่ แล้วก็เลือกเมล็ดที่รากงอกนั้น แล้วนำไปปลูกในหลุม หลุมละ 2 - 3 เม็ด ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 1 ศอก ใส่ปุ๋ยคอกกรองก้นหลุม หลุมละประมาณ 1 กระป๋องนม เอาดินใส่ลงไปในหลุมจนหลุมตื้นแล้วจึงนำมะระไปลงปลูก ควรปลูกในตอนเย็น ปลูกเสร็จใช้ฟางคลุมสัก 2 - 3 วัน รดน้ำให้ชุ่ม การรดน้ำต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะระยิ่งโตยิ่งต้องการน้ำมาก และต้องคอยถอนหญ้าออกด้วย

สรรพคุณ

1. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของสารก่อมะเร็งต่าง ๆ (เบตาแคโรทีนในผลมะระ)
2. ช่วยทำให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีสาร Momodicine ที่ช่วยทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามาก
3. ช่วยทำให้ดวงตาสดใส
4. ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียม)
5. ช่วยแก้กระหายน้ำ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
6. ช่วยบำบัดและรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
7. ผลมะระมีสรรพคุณในการช่วยฟอกเลือดได้
8. สามารถต้านเชื้อไวรัสและมะเร็งได้
9. มีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าสารสกัดจากมะระจะช่วยขัดขวางการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ
10. ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย (เถา)
11. ช่วยปรับธาตุในร่างกายให้เกิดความสมดุล (เมล็ด)
12. รากมะระนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการไข้ได้ (ราก)
13. ช่วยบรรเทาอาการหวัด ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
14. ช่วยขับพิษเสมหะ ขับเสมหะ (ใช้ร่วมกับกะเม็งตัวเมีย)
15. น้ำคั้นจากมะระจีนใช้อมแก้อาการปากเปื่อยได้
16. ช่วยแก้อาการบิด (ราก, เถา)
17. ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน
18. ช่วยในการย่อยอาหาร
19. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
20. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักได้ (ราก)
21. ช่วยขับพยาธิตัวกลม (เมล็ด)
22. ช่วยแก้ตับ ม้ามพิการ บำรุงน้ำดี
23. ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
24. ช่วยแก้ท่อน้ำดีอักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเพื่อแก้อาการ
25. รากมะระมีฤทธิ์ฝาดสมาน
26. ผลมะระใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยลดอาการระคายเคือง ผิวหนังแห้ง และผิวหนังอักเสบ
27. ช่วยลดอาการฟกช้ำบวมตามร่างกาย (ใบ)
28. ช่วยแก้อาการผดผื่นคัน (ใบ)
29. ช่วยแก้ลมเข้าข้อ ลดอาการปวดบวมที่เข่า
30. ผลสุกของมะระ คั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหน้าเพื่อช่วยรักษาสิวอักเสบ (ผลสุก)
31. เมนูมะระจีน ได้แก่ แกงจืดมะระยัดไส้ มะระต้มจืด มะระผัด ยำมะระสด ลวกจิ้มน้ำพริก
32. แม้ว่ามะระจะมีรสขมมาก แต่ก็ได้รับความนิยมจากคนรักสุขภาพด้วยการนำผลสด ๆ มาคั้นเป็นน้ำดื่ม
33. ในปัจจุบันมีการนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่บรรจุอยู่ในรูปของแคปซูล

ประโยชน์

1. มีอาการป่วยไข้ ให้นำมะระทั้ง 5 คือ ดอก ผล ใบ ราก และเถาอย่างละ 1 กำมือใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มจนเดือด กินครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้งติดต่อกันเพียง 3 - 4 วันก็จะหายไข้
2. มะระมีรสขมเย็น แต่มีสรรพคุณมากมายเพราะสามารถใช้รักษาได้ทั้งไข้ร้อนและไข้เย็น นอกจากจะช่วยแก้ไข้แล้วมะระยังช่วยลดเสมหะ ลดน้ำมูก และบรรเทาอาการไอได้อีกด้วย
3. มีอาการคอแหบแห้ง เสียงไม่มี เนื่องจากโรคหวัด นำผลมะระต้มกินเป็นอาหารช่วยรักษาให้ทุเลาจนถึงหายขาดได้
4. แก้ท้องผูก นำมะระทั้ง 5 มาต้มกิน ทำให้อุจจาระอ่อน ขับถ่ายสะดวกใช้เป็นยาระบายได้ดี แม้ท้องผูกยามเป็นไข้ (หรือไข้เกิดจากท้องผูก) ใช้มะระต้มดื่มวันละ 1 ครั้ง 1 แก้ว ตอนบ่ายหรือตอนเย็น เพราะมะระมีสรรพคุณถ่ายพิษไข้ได้เป็นอย่างดี
5. อีกตำรับหนึ่ง ให้นำมะระจีนหรือมะระขี้นกใกล้สุก มาหั่นทั้งเนื้อและเม็ดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง คั่วจนหอมแล้วตำให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดหัวแม่มือกินครั้งละ 1 เม็ดก่อนนอน อาการท้องผูกจะหายไป
6. บำรุงสายตา ให้นำผลมะระและยอดอ่อนมาปรุงอาหารตามใจชอบ ควรกินวันเว้นวันสม่ำเสมอ สายตาจะดีขึ้น
7. บำรุงเลือด ใช้ตำรับเดียวกับบำรุงสายตา
8. บำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ให้นำเม็ดมะระจีนแก่จัดมาตากแห้งแล้วแกะเปลือกนอกออก ใช้เนื้อในบดจนละเอียด ละลายน้ำร้อนกินครั้งละ 1 ช้อนกาแฟวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ เว้น 2 อาทิตย์ กินอีก 2 อาทิตย์ จะทำให้เจริญอาหาร มีกำลังวังชาขึ้น ยาขนานนี้ยังช่วยขับพยาธิตัวเล็กได้อีกด้วย

คำแนะนำ

1. ไม่ควรซื้อมะระจีนที่แก่จัดมากจนเกินไป เพราะจะมีรสขม โดยสังเกตจากหนามของมะระจีน หากหนามมีลักษณะแข็งแสดงว่าแก่เต็มที่แล้ว
2. ก่อนรับประทานมะระให้นำมะระจีนไปแช่ในน้ำเกลือ 20 นาที เทน้ำทิ้ง แล้วนำมาแช่น้ำเปล่าอีกครั้งประมาณ 10 นาที จึงนำไปประกอบอาหารตามปกติ ขณะประกอบอาหารไม่ควรคนบ่อยจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้มีรสขมมากขึ้น
3. สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะระจีน เนื่องจากสารบางชนิดในมะระจีนจะทำให้เกิดเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานเยื้อหุ้มเมล็ดสีแดงของมะระจีน เพราะอาจเป็นพิษต่อร่างกาย
5. ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานมะระจีน เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดก็ควรงดรับประทานมะระจีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
6. มะระจีนเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น จึงไม่ควรรับประทานติดต่อกันทุกวัน หากรับประทานมะระจีนแล้วเกิดอาการแพ้ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ควรหยุดรับประทาน

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=WRJIDgO2-lU

>>> มะระ <<<


Balsam-pear1.png Balsam-pear2.png Balsam-pear3.png Balsam-pear4.png

แหล่งที่มาของภาพ
http://www.kroobannok.com/news_pic/p39184431313.jpg
https://i.ytimg.com/vi/GtdPU4EtThg/maxresdefault.jpg
https://img.kapook.com/u/2018/sireeporn/bi2.jpg
https://static1-velaeasy.readyplanet.com/www.disthai.com/images/editor/Momordicacharantia_Bitter_gourd_banner_1.jpg
https://www.thairath.co.th/media/4DQpjUtzLUwmJZZPGTLImoZ2aOwULwSyRszQDWPM0Gyd.jpg