มะม่วงหิมพานต์
วงศ์ : ANACARDIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale L.
ชื่อสามัญ : Cashew, Cashew nut
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : มะม่วงสิโห, มะโห, มะม่วงกาสอ, มะม่วงเล็ดล่อ, มะม่วงยางหุบ, กายี, ส้มม่วงทูนหน่วย, มะม่วงทูนหน่วย, กะแตแก, นายอ, ยาโงย, ยาร่วง, มะม่วงหิมพานต์, มะม่วงไม่รู้หาว, มะม่วงกุลา, มะม่วงลังกา, มะม่วงหยอด, มะม่วงสินหน, กาหยู, กาหยี, ม่วงเม็ดล่อ, ม่วงเล็ดล่อ, หัวครก, ท้ายล่อ, ตำหนาว, ส้มม่วงชูหน่วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงโดยเฉลี่ย 6 เมตร (สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร) ลำต้นเนื้อไม้แข็ง มีกิ่งแขนงแตกออกเป็นพุ่มแน่นทรงกลมถึงกระจาย เปลือกหนาผิวเรียบมีสีน้ำตาลเทา ในบ้านเราสามารถพบมะม่วงหิมพานต์ได้ทั่วไปในภาคใต้
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียน ใบหนาเกลี้ยงเหมือนแผ่นหนัง ใบคล้ายรูปไข่กลับหัวถึงรูปรีกว้าง ปลายใบกลม โคนใบแหลม เนื้อใบมีกลิ่นหอม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6 - 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8 - 20 เซนติเมตร
ดอก : ออกเป็นช่อกระจาย ดอกมีสีขาวหรือสีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกหนึ่งมีปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ ปลายแหลมเรียว ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ 8 - 10 อัน หลังจากดอกร่วงจะติดผล
ผล : ลักษณะคล้ายผลชมพู่หรือลูกแพร์ ผลเป็นพวงห้อยลงมา ขนาดผลยาวประมาณ 5 - 8 เซนติเมตร เนื้อผลฉ่ำน้ำมีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียวหรือเหลืองอมชมพู แต่เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ที่ปลายผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด มีลักษณะคล้ายรูปไต เปลือกนอกแข็งและยาวประมาณ 2 - 4 เซนติเมตร มีน้ำตาลอมเทา เป็นผลมีเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียวลักษณะคล้ายรูปไต หรือคล้ายนวมของนักมวย มีสีน้ำตาลปนเทา ข้างในผลมีเมล็ดคล้ายรูปไต
การขยายพันธุ์ :
สรรพคุณ
- 1. แพทย์ในอินเดียใช้เมล็ดเลี้ยงเด็กทารกที่อายุเกิน 6 ขวบ เพื่อช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรง
- 2. เม็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยธาตุทองแดง จึงช่วยบำรุงเส้นผมและผิวหนังได้เป็นอย่างดี
- 3. สรรพคุณเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- 4. เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- 5. เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีธาตุแมกนีเซียมในปริมาณมาก จึงช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก สุขภาพฟันและกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้
- 6. การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
- 7. การวิจัยในบราซิลและอินเดียพบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นและสารสกัดจากส่วนเหนือดินของต้น สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- 8. เมล็ดมีกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ป้องกันโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทรวงอกได้
- 9. แมกนีเซียมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
- 10. เมล็ดมีกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก จึงช่วยในการป้องกันโรคไขมันตับและไม่ให้สะสมในร่างกายมากจนเกินไป จึงไม่ทำให้อ้วน
- 11. เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีแมกนีเซียมสูง โดยแร่ธาตุชนิดจะช่วยในการทำงานของหัวใจ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน ช่วยป้องอาการหมดเรี่ยวแรงได้เป็นอย่างดี
- 12. ช่วยรักษาโรคฟันผุ บรรเทาอาการเสียวฟันหรือปวดฟันได้ เนื่องจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์มีกรดอนาร์ดิกที่มีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุได้ แต่อย่างไรก็ดีการแปรงฟันก็ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากกรดชนิดนี้จะออกฤทธิ์เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น (ชาร์ลส์ เวเบอร์ นักวิทยาศาสตร์จากนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา)
- 13. กรดอนาร์ดิกในเม็ดมะม่วงหิมพานต์สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น วัณโรค โรคเรื้อน กำจัดเชื้อโรคที่พบในสิว เป็นต้น (ชาร์ลส์ เวเบอร์ นักวิทยาศาสตร์จากนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา)
- 14. ชาวโบลีเวียเชื่อว่าน้ำจากผลสามารถช่วยกระตุ้นสมองแล้วทำให้มีความจำดีขึ้น (ผล)
- 15. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคประสาทพิการและช่วยแก้โรคปวดตามข้อได้ (ผล)
- 16. มะม่วงหิมพานต์มีสรรพคุณช่วยลดไข้ (ผล, ใบ)
- 17. ช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน (ยางจากต้น)
- 18. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ใช้กลั้วคอล้างปาก (เปลือกต้น)
- 19. ใบสดนำมาเผาไฟแล้วสูดดมควันจะช่วยรักษาและบรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอได้ (ใบสด)
- 20. ช่วยแก้อาเจียน รักษาแผลในช่องปาก (น้ำจากผล)
- 21. ช่วยในการขับเหงื่อ (น้ำจากผล)
- 22. เมล็ดนำมาคั่วโรยเกลือรับประทานเป็นยาแก้อาการบวมน้ำได้ (เมล็ดคั่ว)
- 23. การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะช่วยในการย่อยอาหารได้เป็นอย่างดี (เมล็ด)
- 24. รากมะม่วงหิมพานต์มีสรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วงและเป็นยาฝาดสมาน (ราก)
- 25. ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง (ยอด, ใบ)
- 26. ในบราซิลนิยมนำผลมาทำเป็นไวน์ เพราะเชื่อว่ามันสามารถช่วยรักษาโรคบิดเรื้อรังได้ (ผล)
- 27. ใบยอดอ่อนมีสรรพคุณช่วยสมานแผลในลำไส้ ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการของโรคท้องร่วงได้ (ใบ)
- 28. น้ำคั้นจากผลใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) (น้ำคั้นจากผล, เมล็ดคั่ว)
- 29. การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วได้ (เมล็ด)
- 30. ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงได้ (ใบ)
- 31. ช่วยต้านกามโรค (น้ำจากผล)
- 32. ใช้รักษาโรคผิวหนังพุพองและกามโรคเข้าข้อได้ (เปลือกต้น)
- 33. ใช้เป็นยาแก้ปวดเนื่องจากรำมะนาด (เปลือกต้น)
- 34. ใช้เป็นยารักษาหูด ด้วยการใช้ยางจากผลสดที่ยังไม่สุก 1 ผล ที่เด็ดออกมาใหม่ ๆ แล้วใช้ยางทาตรงบริเวณที่เป็นหูด ทาเป็นประจำจนกว่าจะหาย (ยางจากผลสด, ยางจากต้น)
- 35. ช่วยทำลายตาปลา ช่วยกัดทำลายเนื้อด้านที่เป็นปุ่มโตหรือโรคเท้าแตกได้ ด้วยการใช้ยางจากต้นสดทาบริเวณที่เป็นตาปลาหรือเนื้อด้านบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย (ยางจากต้น)
- 36. เมล็ดใช้ผสมเป็นยารับประทาน ช่วยแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน โรคเรื้อน ทำให้หนังชา (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)
- 37. น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ สรรพคุณใช้เป็นพิษต้านเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อหนองชนิด Staphylococus (การสูดดมน้ำมันชนิดนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง มีพิษรุนแรง และควรระวังเมื่อต้องใช้กับเด็ก)
- 38. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบแก่นำมาบดใส่บริเวณที่เป็นแผล (ใบแก่)
ประโยชน์
- 1. ประโยชน์ของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ดี
- 2. ประโยชน์ของมะม่วงหิมพานต์ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี
- 3. เม็ดมะม่วงหิมพานต์สามารถช่วยรักษารูปร่างให้สมส่วนได้ เพราะมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
- 4. การรับประทานถั่วเป็นประจำจะช่วยทำให้อิ่มนานขึ้นและรับประทานอาหารได้น้อยลงอีกด้วย (ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม)
- 5. เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นผลไม้ที่มีสารพิวรีนน้อยหรือไม่มีเลย
- 6. เมล็ดมะม่วงหิมพานต์นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารว่าง และยังเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกของประเทศอินเดีย เวียดนาม และบราซิลอีกด้วย (90% ของการส่งออกทั่วโลกมาจากสามประเทศนี้)
- 7. ผลของมะม่วงหิมพานต์มีเนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยว สามารถรับประทานเป็นผลไม้สดได้ทั้งผลดิบและผลสุก
- 8. ผลห่ามของมะม่วงหิมพานต์ ทางภาคใต้ของไทยนิยมนำใช้ทำแกงส้มหรือใช้ยำ
- 9. มะม่วงหิมพานต์ ประโยชน์ผลดิบใช้รับประทานร่วมกับเกลือเป็นของกินเล่นได้
- 10. ผลสุกสามารถนำไปหมักทำไวน์ ทำน้ำส้มสายชู หรือเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆได้
- 11. เมล็ดสามารถนำไปประกอบอาหารได้ เมนูเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอด ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แหนมผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนมจีนผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
- 12. ใบอ่อน ยอดอ่อน สามารถใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือแกงเผ็ด ลาบ ก้อย ขนมจีนน้ำยาได้
- 13. ใบแก่สามารถนำมาขยี้และใช้สีฟันได้
- 14. ไม้จากลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนและมีขนาดเล็ก มันจึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำลังไม้ หรือหีบใส่ของ ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ต่อเรือ ใช้ทำเรือเอก แอกเทียม วัวเทียมควายเทียม คุมล้อเกวียน และยังนำไปทำเป็นฟืนและถ่านได้อีกด้วย
- 15. ยางจากเปลือกของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ควาญช้างในประเทศอินเดียนำมาใช้เพื่อคุมช้างให้เชื่องได้
- 16. ยางจากลำต้น สามารถนำมาใช้ทาบ้านกันปลวกได้
- 17. เปลือกต้นหรือเปลือกเมล็ด มีประโยชน์หลายอย่างในด้านของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สามารถนำไปทำเป็นผ้าเบรค และแผ่นคลัชได้ ซึ่งจะมีคุณสมบัติทนความร้อนที่เกิดจากแรงเสียดได้สูง หรือนำมาใช้ทำฉนวนป้องกันไฟฟ้าแมกนิเตอร์เมเตอร์ ใช้ทำน้ำประสานในการบัดกรีโลหะ น้ำมันชักเงาสำหรับใช้ในเครื่องบิน ใช้ผสมทำน้ำหมึก ทำหมึกประทับตราผ้า ทำเป็นลูกกลิ้งยางพิมพ์ดีด ทำกาว ใช้ย้อมอวนทนทาน ผลิตภัณฑ์ปูพื้น ใช้ผสมปูนซีเมนต์ทำให้เหนียวขึ้น ใช้กำจัดตัวอ่อนของยุงด้วยการผสมกับพาราฟินเหลว ผลิตภัณฑ์ทาไม้ป้องกันปลวก ยาฆ่าแมลงและปลวก เป็นต้น
- 18. เยื่อหุ้มเมล็ดถ้ามีปริมาณมาก อาจใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนนิน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังได้
- 19. ประโยชน์ของเปลือกเมล็ดสกัดเป็นน้ำมัน ในด้านการแพทย์สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเหน็บชา วัณโรค โรคเท้าช้าง โรคเลือดคั่ง โรคเรื้อน โรคผิวหนัง หูด ตาปลา และส้นเท้าแตกได้
- 20. ประโยชน์ของเปลือกเมล็ด ก็สามารถใช้ประโยชน์ในด้านความงามได้ เช่น ใช้ลอกหน้าที่เกิดจากการตกกระ (แต่อาจส่งผลเสียได้) เป็นต้น
- 21. ผลของมะม่วงหิมพานต์มีกลิ่นต่าง ๆ ถึง 20 กลิ่น จึงสามารถนำมาสกัดทำเป็นหัวน้ำหอมได้
- 22. ผลนอกจากใช้รับประทานเป็นผลไม้ ยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ของ โค กระบือ ได้อีกด้วย
- 23. ผลสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น แยม ผลไม้กวน เครื่องดื่ม น้ำมะม่วงหิมพานต์ ไวน์ น้ำส้มสายชู เป็นต้น
- 24. เมล็ดสามารถนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่ว อบเนย อบน้ำผึ้ง เป็นต้น
คำแนะนำ
- 1. เม็ดมะม่วงมะม่วงหิมพานต์จะมีน้ำมันมากและให้พลังงานสูง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือครั้งหนึ่งไม่เกิน 10 เม็ด (แต่ถ้าอยากรู้ว่าพลังงานเยอะแค่ไหน ลองใช้ไฟจุดดู จะเห็นไฟลุกเป็นเปลว และยิ่งนำไปอบหรือทอดเนยก็จะมีพลังงานมากขึ้นไปอีก)
- 2. ใช่ว่าถั่วลิสงจะเป็นถั่วที่มีสารอะฟลาทอกซินอย่างเดียว เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ก็อาจมีปนเปื้อนด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกบริโภคเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่สะอาด ปิดมิดชิด ไม่เก็บไว้นาน มีเลขทะเบียน อย. ที่ถูกต้อง หรือผ่านการผลิตด้วยระบบ GMP/HACCP
- 3. สำหรับบางรายที่รับประทานเม็ดมะม่วงพิมพานต์แล้วเกิดอาการแพ้ โดยมีอาการเช่น มีอาการบวมที่ใบหน้าและคอ มีผดผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสีย คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
>>> มะม่วงหิมพานต์ <<<




แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2013/08/มะม่วงหิมพานต์.jpg
https://www.thaiarcheep.com/wp-content/uploads/2015/07/ที่จริงแล้วมะม่วงหิมพานต์สามารถ.jpg
https://news.mthai.com/app/uploads/2018/06/PNOHT610618001000803_18062018_065231.jpg
https://medthai.com/images/2013/08/ใบมะม่วงหิมพานต์.jpg
https://www.kasetorganic.com/wp-content/uploads/2014/10/adw-Custom.jpg