มะระ
วงศ์ : CUCURBITACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia L.
ชื่อสามัญ : Balsam Pear, Bitter Cucumber, Leprosy Gourd, Bitter Gourd
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : ผักไฮ, ผักไซ่, ผักไห่, มะร้อยรู, มะไห่, สุพะซู, สุพะเด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้เถา มีมือเกา
ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ กว้างยาวประมาณ 4 - 7 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นซี่ห่างๆ ใบเว้าเป็นแฉกลึก 5 - 7 แฉก ใบและลำต้นมีขนสากอยู่ทั่วไป
ดอก : สีเหลือง ออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน รูปแตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก เมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 เซนติเมตร
ผล : มะระมี 2 ชนิด คือ มะระไทยหรือมะระขี้นก และมะระจีน ซึ่งต่างกันที่ลักษณะและขนาดของผล ผลมะระขี้นก มีขนาดเล็กกว่า ยาว 3 - 5 เซนติเมตร ผลรูปกระสวย ผิวขรุขระ สีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีเหลือง ส่วนมะระจีนมีขนาดใหญ่กว่า เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 - 5 เซนติเมตร ยาว 12 - 30 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก สีเขียวอ่อน ผิวขรุขระ ผลมะระทั้งสองชนิดมีรสขม
การขยายพันธุ์ : นำเมล็ดมาแช่น้ำ ประมาณ 1 คืน แล้วนำมาห่อกับผ้าชื้นประมาณ 2 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากโผล่ แล้วก็เลือกเมล็ดที่รากงอกนั้น แล้วนำไปปลูกในหลุม หลุมละ 2 - 3 เม็ด
ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 1 ศอก ใส่ปุ๋ยคอกกรองก้นหลุม หลุมละประมาณ 1 กระป๋องนม เอาดินใส่ลงไปในหลุมจนหลุมตื้นแล้วจึงนำมะระไปลงปลูก ควรปลูกในตอนเย็น ปลูกเสร็จใช้ฟางคลุมสัก 2 - 3 วัน รดน้ำให้ชุ่ม การรดน้ำต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะระยิ่งโตยิ่งต้องการน้ำมาก และต้องคอยถอนหญ้าออกด้วย
สรรพคุณ
- 1. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของสารก่อมะเร็งต่าง ๆ (เบตาแคโรทีนในผลมะระ)
- 2. ช่วยทำให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีสาร Momodicine ที่ช่วยทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามาก
- 3. ช่วยทำให้ดวงตาสดใส
- 4. ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียม)
- 5. ช่วยแก้กระหายน้ำ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- 6. ช่วยบำบัดและรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- 7. ผลมะระมีสรรพคุณในการช่วยฟอกเลือดได้
- 8. สามารถต้านเชื้อไวรัสและมะเร็งได้
- 9. มีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าสารสกัดจากมะระจะช่วยขัดขวางการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ
- 10. ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย (เถา)
- 11. ช่วยปรับธาตุในร่างกายให้เกิดความสมดุล (เมล็ด)
- 12. รากมะระนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการไข้ได้ (ราก)
- 13. ช่วยบรรเทาอาการหวัด ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- 14. ช่วยขับพิษเสมหะ ขับเสมหะ (ใช้ร่วมกับกะเม็งตัวเมีย)
- 15. น้ำคั้นจากมะระจีนใช้อมแก้อาการปากเปื่อยได้
- 16. ช่วยแก้อาการบิด (ราก, เถา)
- 17. ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน
- 18. ช่วยในการย่อยอาหาร
- 19. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- 20. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักได้ (ราก)
- 21. ช่วยขับพยาธิตัวกลม (เมล็ด)
- 22. ช่วยแก้ตับ ม้ามพิการ บำรุงน้ำดี
- 23. ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- 24. ช่วยแก้ท่อน้ำดีอักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเพื่อแก้อาการ
- 25. รากมะระมีฤทธิ์ฝาดสมาน
- 26. ผลมะระใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยลดอาการระคายเคือง ผิวหนังแห้ง และผิวหนังอักเสบ
- 27. ช่วยลดอาการฟกช้ำบวมตามร่างกาย (ใบ)
- 28. ช่วยแก้อาการผดผื่นคัน (ใบ)
- 29. ช่วยแก้ลมเข้าข้อ ลดอาการปวดบวมที่เข่า
- 30. ผลสุกของมะระ คั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหน้าเพื่อช่วยรักษาสิวอักเสบ (ผลสุก)
- 31. เมนูมะระจีน ได้แก่ แกงจืดมะระยัดไส้ มะระต้มจืด มะระผัด ยำมะระสด ลวกจิ้มน้ำพริก
- 32. แม้ว่ามะระจะมีรสขมมาก แต่ก็ได้รับความนิยมจากคนรักสุขภาพด้วยการนำผลสด ๆ มาคั้นเป็นน้ำดื่ม
- 33. ในปัจจุบันมีการนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่บรรจุอยู่ในรูปของแคปซูล
ประโยชน์
- 1. มีอาการป่วยไข้ ให้นำมะระทั้ง 5 คือ ดอก ผล ใบ ราก และเถาอย่างละ 1 กำมือใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มจนเดือด กินครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้งติดต่อกันเพียง 3 - 4 วันก็จะหายไข้
- 2. มะระมีรสขมเย็น แต่มีสรรพคุณมากมายเพราะสามารถใช้รักษาได้ทั้งไข้ร้อนและไข้เย็น นอกจากจะช่วยแก้ไข้แล้วมะระยังช่วยลดเสมหะ ลดน้ำมูก และบรรเทาอาการไอได้อีกด้วย
- 3. มีอาการคอแหบแห้ง เสียงไม่มี เนื่องจากโรคหวัด นำผลมะระต้มกินเป็นอาหารช่วยรักษาให้ทุเลาจนถึงหายขาดได้
- 4. แก้ท้องผูก นำมะระทั้ง 5 มาต้มกิน ทำให้อุจจาระอ่อน ขับถ่ายสะดวกใช้เป็นยาระบายได้ดี แม้ท้องผูกยามเป็นไข้ (หรือไข้เกิดจากท้องผูก) ใช้มะระต้มดื่มวันละ 1 ครั้ง 1 แก้ว ตอนบ่ายหรือตอนเย็น เพราะมะระมีสรรพคุณถ่ายพิษไข้ได้เป็นอย่างดี
- 5. อีกตำรับหนึ่ง ให้นำมะระจีนหรือมะระขี้นกใกล้สุก มาหั่นทั้งเนื้อและเม็ดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง คั่วจนหอมแล้วตำให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดหัวแม่มือกินครั้งละ 1 เม็ดก่อนนอน อาการท้องผูกจะหายไป
- 6. บำรุงสายตา ให้นำผลมะระและยอดอ่อนมาปรุงอาหารตามใจชอบ ควรกินวันเว้นวันสม่ำเสมอ สายตาจะดีขึ้น
- 7. บำรุงเลือด ใช้ตำรับเดียวกับบำรุงสายตา
- 8. บำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ให้นำเม็ดมะระจีนแก่จัดมาตากแห้งแล้วแกะเปลือกนอกออก ใช้เนื้อในบดจนละเอียด ละลายน้ำร้อนกินครั้งละ 1 ช้อนกาแฟวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ เว้น 2 อาทิตย์ กินอีก 2 อาทิตย์ จะทำให้เจริญอาหาร มีกำลังวังชาขึ้น ยาขนานนี้ยังช่วยขับพยาธิตัวเล็กได้อีกด้วย
คำแนะนำ
- 1. ไม่ควรซื้อมะระจีนที่แก่จัดมากจนเกินไป เพราะจะมีรสขม โดยสังเกตจากหนามของมะระจีน หากหนามมีลักษณะแข็งแสดงว่าแก่เต็มที่แล้ว
- 2. ก่อนรับประทานมะระให้นำมะระจีนไปแช่ในน้ำเกลือ 20 นาที เทน้ำทิ้ง แล้วนำมาแช่น้ำเปล่าอีกครั้งประมาณ 10 นาที จึงนำไปประกอบอาหารตามปกติ ขณะประกอบอาหารไม่ควรคนบ่อยจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้มีรสขมมากขึ้น
- 3. สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะระจีน เนื่องจากสารบางชนิดในมะระจีนจะทำให้เกิดเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
- 4. หลีกเลี่ยงการรับประทานเยื้อหุ้มเมล็ดสีแดงของมะระจีน เพราะอาจเป็นพิษต่อร่างกาย
- 5. ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานมะระจีน เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดก็ควรงดรับประทานมะระจีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
- 6. มะระจีนเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น จึงไม่ควรรับประทานติดต่อกันทุกวัน หากรับประทานมะระจีนแล้วเกิดอาการแพ้ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ควรหยุดรับประทาน




แหล่งที่มาของภาพ
http://www.kroobannok.com/news_pic/p39184431313.jpg
https://i.ytimg.com/vi/GtdPU4EtThg/maxresdefault.jpg
https://img.kapook.com/u/2018/sireeporn/bi2.jpg
https://static1-velaeasy.readyplanet.com/www.disthai.com/images/editor/Momordicacharantia_Bitter_gourd_banner_1.jpg
https://www.thairath.co.th/media/4DQpjUtzLUwmJZZPGTLImoZ2aOwULwSyRszQDWPM0Gyd.jpg