น้ำเต้า

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
รุ่นปรับปรุงเมื่อ 19:13, 8 กุมภาพันธ์ 2563 โดย Herb (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)

(ต่าง) ←รุ่นปรับปรุงก่อนหน้า | รุ่นล่าสุด (ต่าง) | รุ่นปรับปรุงถัดไป→ (ต่าง)
Gourd.png

วงศ์ : CUCURBITACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagenaria siceraria (Molina) Standl.
ชื่อสามัญ : Bottle gourd, Calabash gourd, Flowered gourd, White flowered gourd
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : มะน้ำเต้า, คิลูส่า, คูลูส่า, ลุ้นออก, แผละลุนอ้อก, Dudhi Lauki, หมากน้ำ, น้ำโต่น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นไม้เถาเเลื้อย มีอายุสั้นเพียงปีเดียว หรือฤดูเดียว มีลำต้นเดี่ยว มีเถาเหลี่ยมแข็งและเหนียว เถาอ่อนมีสีเขียว มีขนยาวสีขาวปกคลุมทั่วเถา มีมือเกาะเส้นเล็กๆ ออกตามเถา เถาแก่มีสีน้ำตาล
ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉก 5 - 7 แฉก โคนใบเว้าเข้าถึงเส้นกลางใบ เส้นใบด้านล่างนูนเด่นชัด ใบมีขนตลอดทั้งใบและก้านใบ ก้านใบยาวประมาณ 5 - 30 เซนติเมตร มีต่อมเทียม 2 ต่อม ซึ่งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ
ดอก : ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาว โดยดอกเพศผู้ ก้านดอกจะยาวประมาณ 5 - 25 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ยาวประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบไม่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2 - 4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5 - 5 เซนติเมตร กลีบดอกมีขน มีลักษณะบางและย่น มีเกสร 3 ก้าน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นสีขาวอยู่ชิดกัน ส่วนดอกเพศเมีย มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ต่างกันที่จะมีผลเล็ก ๆ ติดอยู่ที่โคนดอก โดยก้านดอกจะสั้นและแข็งแรง ยาวประมาณ 2 - 5 เซนติเมตร และก้านจะยาวขึ้นเมื่อรังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผล ดอกไม่มีเกสรเพศผู้เทียม มีรังไข่ยาวประมาณ 2.5 - 3 เซนติเมตร มีขนสีขาว ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็นแฉกหนา ๆ 3 แฉก
ผล : ผลน้ำเต้ามีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน เป็นรูปกระบอง หรือเป็นรูปขวด มีความยาวตั้งแต่ 10 - 100 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วผลจะมีลักษณะกลมโต มีขนาดประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร คอดกิ่วบริเวณยอด โคนขั้วคอดคดงอหรือขดเป็นวงผิวผลเกลี้ยง เรียบ และเนียน เปลือกผลแข็งและทนทาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว ก้านผลยาว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก วางตัวแนวรัศมี เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนป้านคล้ายเล็บมือ ส่วนปลายมีติ่งยื่น 2 ข้าง เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามยาวของเมล็ด
การขยายพันธุ์ : น้ำเต้าเป็นพืชที่ปลูกในดินทุกชนิด ดินร่วนปนทรายจะเจริญเติบโตได้ดี ต้องระบายน้ำดี การปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ ปลูกลงในแปลงดินที่เตรียมไว้ โดยนำเมล็ดพันธุ์ประมาณ 3 - 4 เมล็ด ใส่ลงในลงหลุมปลูก พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ ให้มีระยะห่างประมาณ 2 × 2 เมตร เมื่อต้นงอกแล้ว ให้ถอนกล้าที่ไม่สมบูรณ์ออก ให้เหลือแค่สองต้น

สรรพคุณ

1. ชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้าในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้เป็นโรคความดันโลหิตรับประทาน และในประเทศจีนและอินเดียจะมีการรับประทานน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน (ผล)
2. รากช่วยทำให้เจริญอาหาร แต่ในประเทศจีนจะใช้เมล็ดนำไปต้มกับเกลือรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร (ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)
3. น้ำเต้าเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ (ผล)
4. น้ำเต้าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด (ผล)
5. ใบมี ผลอ่อน และเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, ผลอ่อน, เนื้อในผล)
6. น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาศีรษะจะช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
7. เมล็ดช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)
8. ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
9. ช่วยแก้อาการไอ (เนื้อในผล)
10. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)
11. น้ำมันจากเมล็ดนำมากินจะช่วยทำให้อาเจียน (น้ำมันจากเมล็ด) ส่วนผลหากรับประทานมาก ๆ ก็ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผล)
12. เปลือกผลใช้ผสมหัวทารกเพื่อใช้ลดอาการไข้ (เปลือกผล)
13. ผลหรือโคนขั้วผลนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ (ผล, โคนขั้วผล)
14. ใช้รักษาโรคทางลำคอ ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้าแก่ นำมาตัดจุก แล้วใส่น้ำไว้รับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันและรักษาโรคทางลำคอได้ (ผล)
15. ช่วยรักษาโรคปวดอักเสบ ด้วยการใช้ส่วนที่เป็นเปลือกสดนำมารับประทาน (เปลือกผล)
16. น้ำคั้นจากผลมีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลในกระเพาะอาหาร (ผล)
17. ใบอ่อน ผล และเนื้อในผลใช้รับประทานได้ โดยมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ, ผล, เนื้อในผล)
18. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)
19. ผลมีรสเย็น ช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาท่อปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก (ผล) ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ใบ)
20. ช่วยรักษาโรคลูกอัณฑะบวม ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้านำมาต้มรับประทาน (ผล)
21. ช่วยรักษาโรคเริม (ใบ)
22. รากและทั้งต้นช่วยบำรุงน้ำดี (ราก, ทั้งต้น)
23. แพทย์แผนไทยจะใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้ (ราก)
24. น้ำต้มใบกับน้ำตาล ใช้แก้โรคดีซ่าน (ใบ)
25. เมล็ดมีรสเย็นเมา ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (เมล็ด) หรือใช้รากนำมาต้มกับน้ำใช้กินเป็นยาแก้อาการบวมน้ำตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (ราก)
26. ช่วยแก้อาการปวดฝีในเด็ก ด้วยการใช้น้ำเต้าหั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาผสมกับของต้มเป็นน้ำซุปรับประทาน (ผล)
27. ใบใช้รักษางูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง (ใบ)
28. ใบสดนำมาโขลกผสมกับเหล้าขาวหรือโขลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ หรือใช้ใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โขลกให้เข้ากันจนได้ที่แล้วผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี (การผสมขี้วัวเข้าใจว่าขี้วัวมีแอมโมเนีย จึงทำให้เย็นและช่วยถอนพิษอักเสบได้ดีกว่าตัวยาอื่น) ใช้เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม พุพอง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม และงูสวัดได้ดี (ใบ)
29. ช่วยทำให้เกิดน้ำนม (ผล)

ประโยชน์

1. ใบอ่อนใช้รับประทานได้ ยอดอ่อนใช้ทำแกงส้มกับปลาเนื้ออ่อนหรือกุ้งสด มีรสชาติอร่อยมาก ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาจะรับประทานใบน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่ง หรือใช้ใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้รับประทาน ส่วนใบแห้งเก็บไว้เป็นเสบียงเมื่อยามจำเป็น
2. ผลใช้รับประทานได้ มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยผลน้ำเต้าที่นำมาประกอบอาหารก็คือผลอ่อนที่เปลือกและเมล็ดยังไม่แข็ง เพราะสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด อีกทั้งผลที่ยังอ่อนอยู่จะมีน้ำอยู่มาก ทำให้เนื้อน้ำเต้ามีความอ่อนนุ่ม (อาจใกล้เคียงกับบวบแต่มากกว่าฟักและมะระ) ซึ่งน้ำเต้าที่ชาวไทยนิยมนำมารับประทานจะเป็นน้ำเต้าพันธุ์ผลกลมแป้นมีคอยาว ตรงขั้วอาจจะป่องออกเป็นคอคอดหรือไม่ป่องก็มี โดยพันธุ์ที่ปลูกไว้รับประทานนั้น เปลือกจะมีสีเขียวอ่อนและบางกว่าพันธุ์อื่น ๆ โดยอาจนำผลมาต้มหรือนึ่งรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาจทำไปทำแกง แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงหน่อไม้ แกงเผ็ดน้ำเต้าอ่อน ผัดพริก ฟักน้ำเต้าเห็ดหอม ผัดน้ำมัน น้ำเต้าผัดกับหมูใส่ไข่ หรือต้มเป็นผักจิ้ม ฯลฯ (ไม่ควรต้มหรือผัดนานเพราะจะทำให้เละได้) นอกจากนี้ยังนำผลมาเชื่อมเป็นของหวานได้อีกด้วย ส่วนชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้านำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ในอเมริกาจะนำเนื้อผลอ่อนมานึ่งผัดในกระทะ ชุบแป้งท้อง ต้มสตูว์ หรือใช้ใส่ในแกงจืด ด้วยการเลาะเมล็ดและใยหุ้มเมล็ดออก ส่วนแผ่นน้ำเต้าตากแห้งก็นำมาชุบกับซีอิ๊วกินกับปลาดิบญี่ปุ่นได้ดี
3. ในทวีปแอฟริกาจะใช้น้ำมันจากเมล็ดน้ำเต้าในการปรุงอาหาร บ้างว่าใช้เมล็ดนำมาตากให้แห้ง แล้วคั่วกินเป็นของว่าง
4. น้ำต้มกับผลสามารถนำมาใช้สระผมได้
5. ผลน้ำเต้าแห้งสามารถนำมาใช้ทำเป็นภาชนะได้ เช่น กระบวยตักน้ำ ขันน้ำ ช้อน ทัพพี ทำขวดบรรจุสิ่งของหรือเมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น ขันน้ำหรืออาจใช้ผลน้ำเต้าแก่ ปล่อยให้เนื้อแห้งแล้วขูดเอาเนื้อออก ใช้บรรจุน้ำดื่ม เบียร์ หรือไวน์ บางคนอาจนำเชือกถักมาห่อหุ้มไว้เพื่อป้องกันของแข็งกระแทก อีกทั้งยังดูสวยงามดีอีกด้วย ส่วนชนิดที่มีจุกขวดแต่ไม่ยาวมาก (มักเห็นในเรื่องจี้กง) ก็ใช้ทำเป็นที่ใส่เหล้าห้อยเอว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำเต้าจี้กง"
6. น้ำเต้างาช้างที่มีจุกยาวนิยมเอามาทำเป็นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกซัดหรือลูกแซก สำหรับเล่นประกอบเพลง ซึ่งให้เสียงดังไพเราะดีมาก
7. ในอดีตมีคนนำผลน้ำเต้าแห้งหลาย ๆ ลูกมาผูกรวมกันเพื่อทำเป็นเสื้อชูชีพพยุงตัวให้ลอยน้ำได้ หรืออาจใช้ทำเป็นรังนกกระจอกบ้าน ใช้ทำเป็นทุ่นประกอบการจับปลาก็ได้
8. ในเรื่องการใช้ผลน้ำเต้าทำเป็นเครื่องประดับหรือใช้ทำงานศิลปะ เช่น การวาดภาพลงบนผิวน้ำเต้า หรือการแกะสลักผิวเป็นรูปร่างต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประดับหรือปกปิดร่างกาย อย่างที่คนไทยส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึงอีกด้วย นั่นก็คือ การนำมาใช้แทนกางเกงหรือผ้าเตี่ยวสำหรับผู้ชายในชนเผ่าดั้งเดิมของเกาะนิวกินี กล่าวคือเมื่อผู้ชายเติบโตเป็นหนุ่มแล้วเขาจะหาผลน้ำเต้าแห้งที่มีส่วนคอเรียวยาวมาตัดเอาส่วนคอนั้นมาร้อยเชือก สวมอวัยวะเพศเข้าไป (เพื่อไม่ให้ดูโป๊หรือุจาดตา) แล้วผูกเชือกเอาไว้กับเอวแค่นั้นก็พอ โดยไม่ต้องสวมเสื้อผ้าอะไรอีก
9. ชาวจีนนิยมแขวนน้ำเต้าไว้ในบ้านเกือบทุกครัวเรือน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้บ้านเกิดความร่มเย็น คุณค่าทางโภชนาการของใบน้ำเต้าอ่อนต่อ 100

คำแนะนำ

1. การรับประทานผลน้ำเต้าสุกจะทำให้อาเจียน มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน จึงให้ใช้ผลอ่อนเป็นยาแทน

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=HRK349wN9YI

>>> น้ำเต้า <<<


Gourd1.png Gourd2.png Gourd3.png Gourd4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/03/น้ำเต้า.jpg
https://medthai.com/images/2014/03/ต้นน้ำเต้า.jpg
https://sukkaphap-d.com/wp-content/uploads/2018/01/namtoas2.jpg
https://medthai.com/images/2014/03/ดอกน้ำเต้า.jpg
https://medthai.com/images/2014/03/ผลน้ำเต้า.jpg