มะเขือเปราะ

จาก ระบบฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Kantakari.png

วงศ์ : SOLANACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum virginianum L.
ชื่อสามัญ : Thai Eggplant, Yellow berried nightshade, Kantakari
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ : มะเขือขัยคำ, มะเขือคางกบ, มะเขือจาน, มะเขือแจ้, มะเขือแจ้ดิน, มะเขือดำ, มะเขือหืน, มะเขือขื่น, มะเขือเสวย, เขือพา, เขือหิน, มั่งคอเก, หวงกั่วเชี๋ย, หวงสุ่ยเชี๋ย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นไม้ล้มลุกอายุข้ามปี มีลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 20 - 100 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับต่ำ แตกกิ่งแขนงย่อยสั้น เกิดที่ซอกใบ เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียวเขียวอมเทา เปลือกที่ปลายกิ่งมีสีเขียวอ่อน ส่วนแกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาว เปราะหักง่าย
ใบ : เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบทรงกลม ยาวประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร ขนาดใบกว้างประมาณ 5 - 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุมทั้งด้านล่าง และด้านบน แผ่นใบอ่อนนุ่ม ฉีกขาดได้ง่าย ขอบใบเว้า โค้งเป็นลูกคลื่น และงุ้มเข้าหากลางใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่ มีเส้นแขนงใบเรียงสลับกันออกด้านข้าง
ดอก : ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือออกเป็นช่อ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ดอกจะแทงออกบริเวณซอกใบตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง ดอกที่ออกเป็นช่อมีก้านช่อดอกสั้น แต่มีขนาดใหญ่ ส่วนดอกย่อยหรือดอกเดี่ยวมีก้านดอกทรงกลม ยาวประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร โคนก้านใหญ่ ปลายก้านเรียวเล็กลง ถัดมาเป็นตัวดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นหลอด ดอกบานแผ่กลีบดอกออก ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก 5 กลีบ หุ้มห่อฐานดอกไว้ ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะแหลมตรงกลางกลีบ แผ่นกลีบดอกไม่เรียบ มีสีขาว มีขนปกคลุม ถัดมาตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสีเหลือง จำนวน 5 อัน ยาวประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร และตรงกลางของเกสรตัวผู้เป็นเกสรตัวเมีย มีก้านเกสรสีเหลืองอมส้ม แทงยื่นยาวกว่าเกสรตัวผู้ จำนวน 1 อัน ด้านล่างสุดของฐานดอกเป็นรังไข่
ผล : ออกเป็นผลเดี่ยวหรือออกรวมกันเป็นช่อ แต่ละผลมีก้านผลที่พัฒนามาจากก้านดอก โคนก้านบริเวณขั้วผลใหญ่ โคนก้านติดกิ่งเล็ก ยาวประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวผลที่ขั้วผลหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ สีเขียว จำนวน 5 กลีบ ซึ่งพัฒนามาจากกลีบเลี้ยงของดอก โคนกลีบใหญ่เชื่อมติดกัน ปลายกลีบเรียวแหลม และมีขนอ่อนปกคลุมทั่วกลีบเลี้ยง ทั้งนี้ มะเขือเปราะบริเวณก้านผล และกลีบเลี้ยงจะไม่มีหนาม แต่จากมะเขือขื่น (อีสาน) จะพบหนามบริเวณดังกล่าว ผลแต่ละผลมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ ขนาดผลกว้างประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3 - 8 เซนติเมตร เปลือกผลหนา เรียบ และเป็นมัน มีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ สีขาว สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม และมีลายปะสีขาว เป็นต้น เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในทุกพันธุ์ ถัดมาด้านในเป็นเมล็ดที่แทรกตัวในเนื้อผล ทั้งนี้ เปลือกผล และเนื้อด้านในจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และแยกออกได้ง่ายเมื่อผลแก่หรือสุก เนื้อเปลือกผลมีลักษณะอ่อน และกรอบ เมื่อแก่จนเหลืองจะแข็งขึ้น มีรสเฝื่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อผลด้านในมีรสหวาน เฝื่อนน้อยกว่าเปลือก ดังนั้น มะเขือเปราะจึงนิยมรับประทานในระยะผลอ่อนหรือผลที่ยังไม่สุก
การขยายพันธุ์ : มะเขือเป็นพืชที่มีระบบรากปานกลาง การเพาะกล้าควรขุดไถดินลูกประมาณ 15 ซม. ตากดินไว้ 10 - 15 วัน ใส่ปุ๋ยคอกคลุกเคล้าในดินเพื่อช่วยให้ดินร่วนฟู พรวนดินให้ละเอียด หว่านเมล็ดมะเขือทั่วแปลง แล้วหว่านปุ๋ยคอกกลบทับ

สรรพคุณ

1. ที่ประเทศอินเดียจะใช้น้ำต้มจากผลมะเขือเปราะเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ผล)
2. ผลใช้เป็นยาลดไข้ (ผล)
3. ใช้เป็นยาแก้ไข้พิษร้อน กระทุ้งพิษไข้ ใช้เป็นยาขับน้ำชื้น (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
4. ผลตากแห้งนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งใช้ปรุงเป็นยาแก้ไอ ส่วนการแพทย์อายุรเวทของอินเดียจะใช้รากมะเขือเปราะเป็นยารักษาอาการไอ (ราก, ผล)
5. รากใช้เป็นยาแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ (ราก)
6. ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำอมในปาก (ราก)
7. ช่วยขับลม (ราก)
8. ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยในการขับถ่าย (ผล)
9. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
10. ผลมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ผล)
11. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
12. ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (ผล)
13. ใช้เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ 15 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
14. ใบสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้พิษ แก้ฝีหนอง (ใบสด)
15. ช่วยลดการอักเสบ (ผล)
16. ช่วยแก้อาการปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
17. ใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70 - 100 กรัม นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (ผล)

ประโยชน์

1. ในบ้านเราจะกินผลมะเขือเปราะสีเขียวเป็นอาหาร ทั้งกินดิบจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปใส่แกงป่า แกงเผ็ด และอื่น ๆ
2. มะเขือเปราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 39 กิโลแคลอรี, โปรตีน 1.6 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม, น้ำ 90.2 กรัม, วิตามินเอรวม 143 RE., วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 24 มิลลิกรัม, แคลเซียม 7 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม
3. การรับประทานมะเขือเปราะเป็นประจำจะช่วยต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน
4. มะเขือเปราะมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
5. มะเขือเปราะมีประโยชน์ต่อตับอ่อน เพราะทำให้ตับแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำแนะนำ

1. มะเขือเปราะจะมีประโยชน์อยู่เพียบ แต่หากทานในปริมาณมากหรือทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้มีอาการปวดขาได้เหมือนกัน เพราะในมะเขือเปราะมีสารโซลานิน (SOLANINE) ซึ่งเป็นสารที่ถ้าร่างกายเราสะสมไว้หลาย ๆ วัน จะไปรวมตัวกับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) แล้วเกาะอยู่ตามข้อต่อ ทำให้เราปวดขา ปวดข้อ หรือเป็นตะคริวได้

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=m0E6ozKooFQ

>>> มะเขือเปราะ <<<


Kantakari1.png Kantakari2.png Kantakari3.png Kantakari4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/09/มะเขือเปราะ.jpg
https://kruaoun.files.wordpress.com/2012/07/dsc06081.jpg
https://i.ytimg.com/vi/lc6qGoOJUFQ/maxresdefault.jpg
https://medthai.com/images/2014/09/ดอกมะเขือเปราะ.jpg
https://fx.lnwfile.com/_/fx/_raw/pa/3a/py.jpg